“ผศ.ดร.สมบัติ” ชี้ต้องระวังเขื่อนระหว่างปทุม-นนท์ หากน้ำทะลุมาได้เข้า กทม.แน่ ระบุหากท่วมครั้งนี้ ด้วยความสามารถในการระบายน้ำ-ทะเลหนุน จะทำ กทม.ท่วมนานพอควร แต่ก็ยังเร็วกว่าจังหวัดอื่น ด้าน “พญ.มาลินี” ยันเขื่อน กทม.ไม่พังแน่ ป้องกันเต็มที่ หรือหากสุดวิสัยจริงๆ ก็มีแผนอพยพคนเตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว
คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”
วันที่ 10 ต.ค. เมื่อเวลา 20.30 น. ผศ.ดร.สมบัติ อยู่เมือง หัวหน้าศูนย์วิจัยภูมิสารสนเทศเพื่อประเทศไทย ภาควิชาธรณี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และแพทย์หญิงมาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ร่วมพูดคุยถึงการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
ผศ.ดร.สมบัติกล่าวว่า ที่น่าห่วงคือน้ำมวลใหญ่ที่จะมากับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งกำลังผ่านปทุมธานี และมีเขื่อนชั่วคราวยาวมาจนถึงนนทบุรี เป็นด่านหน้าที่สำคัญ ระดับน้ำสูงมากและแรงมาก จะเห็นว่าน้ำบางส่วนได้พยายามหาทางออก ด้วยความที่ระดับของแม่น้ำสูงกว่าด้านนอกตอนนี้ก็ 3-5 เมตรแล้ว ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เร่งพยายามเสริมคันของเขื่อนให้แข็งแรงที่สุด ถ้าทะลุผ่านปากเกร็ด เมืองนนท์ได้ น้ำก็จะไหลบ่าเข้ามา ด้านจตุจักร บางซื่อ หลักสี่ ดุสิต เพราะเป็นส่วนที่ผ่านคลองประปามา ถ้าเราเอาไม่อยู่ จุดนี้จะได้รับน้ำที่เยอะที่สุด
รองลงมาคือ ส่วนที่ต่อกับปทุมธานีด้านบน ซึ่งน้ำไหลบ่ามาตามคลองรังสิต ซึ่งมีประตูน้ำกั้นอยู่ และที่ต้องระวังอีกอย่างคือรอยที่เป็นคันกั้นน้ำธรรมชาติ ถนน หรือสิ่งที่เราก่อสร้างเป็นแนวกั้นน้ำ หรือกระสอบทราย ต้องไม่ให้มีรอยรั่วเข้ามาด้วยแรงน้ำ ถ้ามันแรงจะทำให้แนวเหนือใต้น้ำเข้ามาได้ง่ายมาก อันนั้นคือส่วนที่ต้องระวังชั้นที่สอง
ผศ.ดร.สมบัติกล่าวอีกว่า นนทบุรี ปทุมธานี การดูแลเขื่อนเฉพาะกิจที่ต่อจาก กทม.2.5-3 กิโลเมตร สำคัญมาก ถ้าเข้าช่วงนี้ได้ก็เข้า กทม. แต่ตอนนี้ตนมองว่าค่อนข้างเอาอยู่ ถ้าไม่มีการพังของเขื่อน
พญ.มาลินีกล่าวเสริมว่า กทม.เตรียมเขื่อนไว้แข็งแรงมาก ถ้าทะลุทะลวงก็เพราะเหตุสุดวิสัยจริงๆ ระบบระบายน้ำของเราก็ชัดเจนมาก และหากทะลุมาได้ก็เตรียมการอย่างดีที่สุด มีแผนอพยพคนเตรียมไว้หมดแล้ว
ผศ.ดร.สมบัติกล่าวต่อว่า ส่วนการตั้งกระสอบทราย หลักของวิศวกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ยิ่งสูงมาก ฐานยิ่งอ่อนแอ อย่างถ้าสูง 3-5 เมตร หากพังก็ยิ่งเพิ่มความรุนแรง เสียหายต่อทั้งทรัพย์สินและชีวิต ฉะนั้นหากจะสร้างสูงฐานต้องกว้างขึ้นด้วย
ถ้ายิ่งใกล้แม่น้ำด้านหน้าต้องลงด้วยหินที่ใหญ่ประมาณตารางฟุต เพื่อรับแรงปะทะน้ำก่อนถึงกระสอบทราย เพื่อให้การค้ำยันอยู่ได้ ซึ่งตนก็ได้เสนอรัฐบาลแล้ว ให้ไปเสริมโดยเฉพาะปทุมธานี นนทบุรี ส่วน กทม.เชื่อว่าเขื่อนไม่พังเพราะเป็นคอนกรีต อย่างมากก็ล้นด้านข้าง แต่ที่ห่วงคือล้นด้านบนและพาน้ำมา
ตอนนี้มวลน้ำลูกใหญ่ที่ใกล้ กทม.มากสุด ที่ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา มีประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ถอยออกไปที่อ่างทองประมาณ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ออกไปอีกที่นครสวรรค์ 6,000-7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่กำลังวิ่งมา ซึ่ง กทม.ระบายน้ำลงเจ้าพระยาได้ประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน คลองซ้ายหรือขวาประมาณ 200-500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เฉลี่ยแล้วให้ถึง 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ฉะนั้น ต้องทำใจว่าหากท่วมต้องอยู่กับน้ำยาวพอควร แต่ด้วยระบบระบายน้ำของ กทม.มีประสิทธิภาพก็จะระบายน้ำได้เร็วกว่าที่อื่น และก็ต้องระวังน้ำทะเลหนุนอีก ในช่วง 13-18 ตุลาคมนี้ การระบายน้ำก็ทำได้ช้าขึ้นอีกหน่อย