รองโฆษก ปชป.จวก “นิติราษฎร์” รับใบสั่งใช้ความเป็นวิชาการเพื่อประโยชน์ “ทักษิณ” ค้านล่าชื่อถอด “สมคิด” จากอธิการบดี มธ.เชื่อ ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ของชาวธรรมศาสตร์ ขู่ อสส.โดยล่ารายชื่อ ส.ส.ถอดถอนแน่ หากไม่ส่งเอกสารแจงกรณีไม่ยื่นฎีกาเลี่ยงภาษี “พจมาน” ก่อน 11 ต.ค.นี้
นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความกังวลหลังจากที่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ ล่ารายชื่ออดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขับไล่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังออกมาแสดงความเห็นโต้แย้งข้อเสนอให้ล้มคำพิพากษาหลังรัฐประหารของกลุ่มนิติราษฎร์ โดยเชื่อว่า ไม่ใช่เสียงของคนส่วนใหญ่ของชาวธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ไม่ควรที่จะเอาสถาบันการศึกษามาเป็นเรื่องทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกมากขึ้น โดยมีความชัดเจนว่า อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ รับใบสั่งทางการเมืองขับเคลื่อนโดยอ้างวิชาการเพื่อประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เห็นได้จากการรับลูกเป็นทอดๆ จากข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ รัฐบาลก็เตรียมนำมาศึกษา
“หากกลุ่มนิติราษฎร์ต้องการพิสูจน์ว่า มีความเป็นอิสระทางวิชาการ และเสนอความเห็นโดยสุจริต ก็ควรประกาศให้ชัดเจน ว่า จะไม่มีการรับตำแหน่งในคณะกรรมการองค์กรอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) หรือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีการตั้งขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญในช่วงปลายปีนี้ และอยากให้นักวิชาการกลุ่มนี้แสดงความเป็นประชาธิปไตยเหมือนที่สร้างภาพด้วยการรับฟังความเห็นของคนอื่น เพราะหลักของประชาธิปไตย คือ การเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน รวมทั้งต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างได้ ไม่ใช่ใช้กฎหมู่มากดดันฝ่ายที่เห็นต่าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่ากลุ่มนิติราษฎร์ใช้วิธีการเดียวกันกับกลุ่มเสื้อแดง จึงอยากให้หยุดการกระทำดังกล่าว ทั้งนี้ พรรคจะติดตามข้อเสนอของกลุ่มนิติราษฎร์ต่อไปว่าจะมีการทำให้เกิดปัญหาต่อระบบกฎหมายหรือไม่”
นายสกลธี กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้า นายถาวร เสนเนียม หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค จะได้ติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้ขอสำเนาเอกสารเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุงไม่ยื่นฎีกาคดี คุณหญิง พจมาน ดามาพงศ์ ซึ่งทางพรรคให้เวลาถึงวันที่ 11 ต.ค.นี้ โดยยังหวังว่าทางอัยการสูงสุดจะปฏิบัติตามคำพูดที่บอกว่าจะให้ข้อมูลตามที่ขอหลังวันที่ 5 ต.ค.หลังจากไปชี้แจงกับทาง กมธ.ของวุฒิสภาในวันที่ 5 ต.ค.ไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีการมอบเอกสารทางคณะทำงานก็คงต้องมีมาตรการในการทวงถามต่อไป โดยเห็นว่าการใช้ดุลพินิจของอัยการสูงสุดครั้งนี้มีความไม่ปกติ เพราะศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรเห็นต่างกัน แทนที่อัยการสูงสุดจะยื่นฎีกากลับยุติคดี แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้ความคุ้มครองว่าให้อัยการสูงสุดสามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาคดีได้อย่างเป็นอิสระ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถใช้ดุลพินิจโดยไม่ถูกต้องได้ โดยหากคณะทำงานได้พิจารณาหลักฐานครบถ้วนแล้ว และเห็นว่าการใช้ดุลพินิจครั้งนี้มีปัญหาก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะรวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ