xs
xsm
sm
md
lg

“ประทีป” ยัน เอ็มโอยู 44 มีล็อกสเปก ทำเจรจาเขตทะเลไม่คืบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กมธ.ตปท.วุฒิฯ เสวนา เอ็มโอยู 44 ไทย เสียเปรียบจริงหรือ กุนซือ กมธ.ยันเส้นเขตแดนบกไม่ผูกพันในทะเล ชี้ จำเป็นต้องเจรจาเขตแดนทะเลร่วม ด้าน อ.นิติ จุฬาฯ ยันต้องยอมรับผลศาลโลกหากเจรจาไม่ได้ ขณะที่ อดีต เสธ.ทัพเรือสัตหีบ ชี้ เอ็มโอยู 44 มีล็อกสเปก ทำเจรจาเขตพื้นที่ไม่คืบหน้า มุ่งแต่เรื่องผลประโยชน์

วันนี้ (28 ก.ย.) ที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาเอ็มโอยู พ.ศ.2544 : เขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชา ไทยเสียเปรียบจริงหรือ?” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ วุฒิสภา ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และมีวิทยากรร่วมสัมมนา อาทิ พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ที่ปรึกษาประจำ กมธ.การต่างประเทศ นายสมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย พล.ร.อ.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตเสนาธิการฐานทัพเรือสัตหีบ และ นายชุมพร ปัจจุสานนท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

โดย พล.ร.อ.ถนอม กล่าวตอนหนึ่งว่า อยากทำความเข้าใจว่า ข้อมูลเส้นเขตแดนทางบก และทางทะเล ระหว่างไทย-กัมพูชานั้นเป็นคนละเรื่องกัน ดังนั้น หากเส้นเขตแดนบนบกเป็นเช่นไร จะไม่มีผลผูกพันกับเส้นเขตแดนทางทะเล ซึ่งเขตแดนทางทะเลนั้น ตามหลักสากลกำหนดให้เป็นสิทธิของรัฐที่จะประกาศพื้นที่ใช้สอย หรือเสรีภาพทางทะเล โดยให้นับเขตครอบครองมีเนื้อที่ 3 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 5 กม.จากเส้นไหล่ทวีป นอกจากนั้น ให้ถือว่าเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกัน สำหรับประเด็นบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนไหล่ทวีป พ.ศ.2544 (เอ็มโอยู 2544) จะยกเลิกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจะพิจารณา แต่หากมีการยกเลิกจริง โดยส่วนตัวรู้สึกเสียดายในบทบัญญัติที่เป็นประโยชน์ในในเอ็มโอยู 2544 โดยเฉพาะในข้อ 2 (ฉ.) ระบุให้มีการแบ่งเขตแดนซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกัน

“การทำเส้นเขตแดนที่ยอมรับได้ร่วมกัน เป็นความหวังที่รอคอยกันมานาน เพราะจะทำให้เส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาเขียนไว้ ซึ่งรุกล้ำเข้าในเขตของไทยจะหายไปทันที ดังนั้น การกำหนดเส้นเขตแดนร่วมกันระหว่างไทย-กัมพูชาเส้นใหม่ จึงมีความจำเป็นในการเจรจา” พล.ร.อ.ถนอม กล่าว

ขณะที่ นายชุมพร กล่าวว่า หากพิจารณาการลากเส้นเขตแดนทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชาตามตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จะถือว่าไม่ถูกต้องทั้ง 2 ฝ่าย และไม่มีผลผูกพันระหว่างกัน เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความต้องการอ้างอิงทางเขตแดนสูงสุดที่แต่ละประเทศคิดว่าควรจะเป็นเท่านั้น ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมาย รวมไปถึงเส้นที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูดด้วย เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างในเส้นของตัวเอง เรื่องจึงไม่ยุติ ดังนั้นทางออกจึงมีเพียงแค่ 2 ทาง คือ 1.การเจรจา หากไม่สามารถเจรจากันได้ก็ต้องเข้าสู่ทางออกที่ 2.คือ นำเรื่องให้ศาลโลกเป็นผู้ตัดสินตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่หากนำเรื่องให้ศาลโลกพิจารณา ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหนทั้ง 2 ประเทศก็ต้องยอมรับ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความได้เปรียบเสียเปรียบในเอ็มโอยู 44 นั้น ขณะนี้ยังถือว่าสรุปไม่ได้ เพราะเรื่องการเจรจาตามกรอบเอ็มโอยู 44 ยังไม่ได้ข้อยุติ

ด้าน พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตเสนาธิการฐานทัพเรือสัตหีบ กล่าวว่า ในอดีตประเทศไทยได้มีการเจรจาเรื่องพื้นที่เขตแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านจนได้ข้อยุติมาแล้ว ทั้งกับมาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งรูปแบบการเจรจาที่นำข้อขัดแย้งขึ้นมาพูดกันบนโต๊ะก่อนที่จะออกมาเป็นเอ็มโอยู หรือข้อตกลงระหว่างกัน ที่ทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับ จนทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนได้มาถึงปัจจุบัน ซึ่งในความเป็นจริงสมัยนั้น ฝ่ายการเมืองผู้มีอำนาจก็ได้มีการพูดคุยนอกรอบกับประเทศคู่เจรจา อย่างในสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อปี 2522 ก็ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำประเทศมาเลเซีย ทำให้การเจรจาเป็นไปด้วยความราบรื่น แม้จะใช้เวลาเป็นสิบปีก็ตาม เพียงแต่ภาพลักษณ์ของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ และฝ่ายการเมืองในสมัยนั้นไม่ได้มีภาพของคนที่จะไปเอาผลประโยชน์ส่วนตัว อีกทั้งยังไม่มีศัพท์บัญัติคำว่าผลประโยชน์ทับซ้อน ต่างจากนักการเมืองสมัยนี้ที่ไม่ว่าเจรจาเรื่องใดก็มีข้อครหาเพื่อเอื้อประโยชน์ และแสวงหาผลประโยชน์ของผู้ที่มีอำนาจ แต่การเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา นับตั้งแต่มีเอ็มโอยู 44 ผลพบว่าไม่เคยมีความคืบหน้าด้านการเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ มีเพียงแต่มุ่งเจรจาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น ซึ่งถือว่าผิดหลัก

“การเจรจาในอดีตมีการล็อบบี้พูดคุยกันก่อน มีทั้งนอกโต๊ะใต้โต๊ะภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ก่อนจะมาคุยบนโต๊ะจนได้ผลสำเร็จ ซึ่งปัจจุบันก็มีนักการเมืองซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจมีส่วนร่วมในการเจรจานอกโต๊ะใต้โต๊ะอย่างแน่นอน แต่การกำหนดกรอบเอ็มโอยู 44 ขึ้นมาพูดคุยกันก่อนที่จะเจรจาเรื่องความขัดแย้งให้แล้วเสร็จ โดยไม่คิดถึงกฎหมายระหว่างประเทศ จึงขอขนานนามว่าเป็นเอ็มโอยูล็อกสเปก และทำให้เรื่องไม่มีความคืบหน้า” พล.ร.ท.ประทีป กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น