xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้พฤติกรรม “นช.แม้ว” ไม่เข้าเกณฑ์ พ.ร.ฎ.อภัยโทษปี 53

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิรัตน์ กัลยาศิริ  (แฟ้มภาพ)
ทีม กม.ปชป.ยัน พ.ร.ฎ.อภัยโทษยุค “มาร์คอ คำนึงถึงความเหมาะสมกับนักโทษทั่วไป ส่วน “นช.แม้ว” ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อกฎหมาย เหตุยังไม่ถูกคุมขัง แถมไม่เคยแสดงออกถึงความรับผิดในคดีที่ถูกตัดสิน ระบุแก๊งเสื้อแดงและพลพรรคเพื่อไทยรู้หลักเกณฑ์ดีแต่ก็ยังแถ หวังผลให้เกิดความเข้าใจผิด เพื่อดึงกระบวนการยุติธรรมให้เป็นประเด็นการเมือง

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2553 ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์เนื้อหาในข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติหลักเกณฑ์ของนักโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวนั้นมีบางส่วนที่เอื้อประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรว่า เป็นหลักเกณฑ์ทั่วไปที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา โดยเนื้อหากฎหมายฉบับดังกล่าวคำนึงถึงความเหมาะสมสำหรับนักโทษที่ยื่นฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ทั้งประเด็นเรื่องของอายุของนักโทษ และประเด็นความจำเป็นที่ต้องถูกควบคุมตัวก่อนจึงสามารถเข้าหลักเกณฑ์ได้

อย่างไรก็ตาม กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นยังมีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ที่ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติดังกล่าวคือ 1.การเข้าชื่อกันร่วมลงนามขอพระราชทานอภัยโทษนั้น ไม่มีรายชื่อของตัวผู้ต้องขังหรือญาติ ดังนั้น ถึงจะอ้างว่ามีผู้เข้าร่วมลงนามกว่า 2 ล้านคน เพื่อขอความเป็นธรรมก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

2.นัยสำคัญของการขออภัยโทษนั้น ผู้ต้องขังต้องแสดงออกถึงการรับผิด ผ่านถ้อยคำที่ยืนถวายหรือการกลับมาถูกควบคุมตัว แต่กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ไม่มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าวเลยแม้แต่น้อย เพราะในฎีกาที่คนเสื้อแดงเข้าชื่อร่วมกันเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎหมายว่ามี 2 มาตรฐาน และโจมตีฝ่ายการเมืองตรงข้าม

ทั้งนี้ ในประเด็นมาตรา 4 ในข้อกฎหมาย ที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาของการถูกกักขังซึ่งมีการมองกันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อาจกลับมาติดคุกเพียงไม่กี่วันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์นั้น ตนมองว่า ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคุณสมบัติที่ผู้กระทำความผิดต้องได้รับโทษ และยอมรับความผิดก่อน ส่วนใครจะได้ประโยชน์นั้นเป็นอีกเรื่อง

นายวิรัตน์กล่าวด้วยว่า คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยรู้ถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะมีนักกฎหมายที่เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน รวมถึงรู้ว่าถึงจะให้ประชาชนร่วมลงรายชื่อมากเท่าใดก็ไม่มีผลเพราะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายระบุ แต่ที่ยังยืนยันที่จะกระทำการดังกล่าวนั้นก็เพื่อหวังผลให้เกิดความเข้าใจผิด และหวังดึงกระบวนการยุติธรรมมาให้เป็นประเด็นในเรื่องการเมืองต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น