“มาร์ค” แจกลายเซ็นช่วยลูกพรรคขายเสื้อ ระดมทุนช่วยน้ำท่วม กลางห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ด้าน “กรณ์” ซัด รบ.กำหนดนโยบายผิดพลาด เม็ดเงินที่เคยจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ถูกเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่บริษัทที่เป็นเอกชนแทน อีกทั้งไม่ส่งเสริมการประหยัดพลังงาน
วันนี้ (11 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยังห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมงาน “11 กันยาตลาดนัดช่วยน้ำท่วม” ที่จัดโดยบรรดา ส.ส.กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน น.ส.จิตภัสร์ ภิรมย์ภักดี โดยในงานดังกล่าวมีการจำหน่ายเสื้อ จำหน่ายสินค้า และประมูลสินค้าแบรนด์เนม เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยในงานดังกล่าวมีการจำหน่ายเสื้อ “อาสาคนไทยช่วยน้ำท่วม” และเสื้อ “9/11 Fair For Flood” โดยมี นายอภิสิทธิ์ ร่วมแจกลายเซ็น ด้วย มีประชาชนและแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีการปรับขึ้นราคาน้ำมันของเอกชน ทางพรรคก็จะติดตามเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมามีประเด็นในเรื่องการปรับลดการจัดเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน โดยมีการปรับให้ราคาน้ำมันเบนซินลดลง แต่หลังจากนั้น มีการปรับราคาในส่วนผู้ค้าน้ำมัน ในกรณีของดีเซล เข้าใจว่า 3 รอบแล้ว ทำให้เม็ดเงินที่เคยจัดเก็บเข้ารัฐผ่านกองทุนน้ำมันนั้น ตอนนี้กลายเป็นการจัดเก็บเข้าบริษัทที่เป็นเอกชนแทน คิดว่า ประเด็นนี้รัฐบาลต้องมีคำอธิบาย ว่า ทำไมถึงทำเช่นนี้ และทำไมถึงยกประโยชน์ให้กับเอกชน และสุดท้ายประชาชนต้องกลับมาจ่ายในราคาที่แพงขึ้น อาจจะเป็นวิธีของรัฐบาลในการที่จะสร้างส่วนต่างของราคา ระหว่างดีเซล เบนซิน กับก๊าซโซฮอล์ และนโยบายเดิมของรัฐบาลส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังานทดแทนอย่างมาก เพราะเมื่อราคาใกล้เคียงกันคนก็เลิกใช้ก๊าซโซฮอล์ ตรงนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด ต้องให้ทางรัฐบาลชึ้แจง
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ที่มีการลดราคาน้ำมันลงถึง ลิตรละ 7 บาท และต่อมากลับมีการปรับขึ้นดูเหมือนมีการต้องการให้ประชาชน ทราบว่า ได้ทำแล้วนั้น นายกรณ์ กล่าวว่า คงเป็นเช่นนั้น เพราะถ้ามีการประเมินตามข้อเท็จจริง คิดว่า ทางรัฐบาลถูกกดดันจากการอภิปรายในเรื่องนโยบาย และหากมองจะพบว่า นโยบายในเรื่องกองทุนน้ำมัน จะพบว่า ไม่ได้ทำตามที่หาเสียงไว้ ที่หาเสียงไว้ คือ จะยุบกองทุนน้ำมัน ซึ่งความหมายแตกต่างกันมาก เพราะยุบกองทุนหมายถึงยกเลิกการจัดเก็บแบบถาวร ดูแล้วก็อย่างที่กล่าวคือนโยบายแก้บน บอกว่า ยกเลิก กลับบอกว่าชั่วคราวนานเท่าไรไม่ทราบ ทำให้มีผลกระทบต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงานที่อาจะเสียไปตนเป็นห่วงตรงจุดนี้ อีกทั้งไม่มีการส่งเสริมให้มีการประหยัดพลังงาน
เมื่อถามว่า มองว่า รัฐบาลอาจจะมีอะไรกับบริษัทผู้ค้าน้ำมันด้วยหรือไม่ นายกรณ์ กล่าวว่า ตนหวังว่าคงไม่ได้เช่นนั้น อย่าง ปตท.เองนั้นก็เป็นบริษัทที่มีผุ้ถือหุ้นกว้างขวางจำนวนมาก คงไม่คิดว่าเป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน หรือผลประโยชน์ส่วนตัวที่อาจจะมี คิดว่า เป็นการกำหนดนโยบายที่ไม่เหมาะสมมากกว่า เป็นความพยายามในการหาแนววิธีในการแก้ปัญหา แบบทำไปแก้ไป ถือเป็นความบกพร่อง