xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาล ปค.สูงสุด ชี้ปัญหาชาติ เหตุ นร.นอกเอา กม.ตปท.ใช้โดยไม่ดูพื้นฐาน ปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (แฟ้มภาพ)
ประธานศาลปกครองสูงสุด ชี้ การศึกษากฎหมายไทยไม่เน้น นิติวิธี ชี้ นักกฎหมายนอกไม่รู้พื้นฐานของประเทศ แต่กลับยัดเยียดกฎหมายต่างชาติทำปัญหาเกิด ด้านอดีตเลขาฯ กกต.ซัดตีความกฎหมายตามอำเภอใจ ถามพรรคการเมืองไทยเป็นพรรคจริงๆ หรือแค่กลุ่มการเมือง จวก ส.ส.บางคนเป็นมาหลายสมัย แต่อภิปรายสักครั้งยังไม่เคย

วันนี้ (30 ส.ค.) ศาลปกครอง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษเรื่อง กระบวนการยุติธรรม ศาลปกครองกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยเพื่อความมั่นคงของชาติ โดย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวบรรยายใจความตอนหนึ่ง ว่า กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมที่จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการนิติบัญญัติ โดยสิ่งแรกที่จะต้องดู คือ กระบวนการขั้นตอนกลไกเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องตัวบุคคลที่เป็นผู้ขับเคลื่อนกระบวนการทั้งหมด รวมทั้งยังต้องมีการกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ผู้บัญญัติและผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องมีความรู้ความสามารถ

นายหัสวุฒิ กล่าวต่อว่า การศึกษาที่เกี่ยวกับกฎหมายในสถาบันต่างๆ ของประเทศไทยเป็นการศึกษาในลักษณะที่นำกฎหมายต่างๆ มาเป็นเนื้อหาในการเรียน โดยไม่ได้เน้นการสอนเรื่องนิติวิธี ซึ่งไม่มีการเรียนเรื่องการใช้และการตีความกฎหมายอย่างจริงจังที่จะต้องรู้หลักเกณฑ์ และขอบเขตของกฎหมายแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากนิติวิธี คือ วิธีการในทางกฎหมาย ความเห็น หรือทัศนคติที่มีต่อกฎหมาย จารีตประเพณีหรือความเห็นที่มีต่อคำพิพากษาของศาล การใช้ ตีความ และการบัญญัติกฎหมายที่สถาบันการศึกษาของไทยไม่ได้เน้น ทั้งนี้กฎหมายที่ใช้ในประเทศไทยมีจำนวนมากจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำเนื้อหากฎหมายมาสอนทั้งหมด หากให้เรียนตั้งแต่เกิดจนตายก็เรียนกฎหมายได้ไม่หมด

“ถ้าคนที่สอนกฎหมายสอนเฉพาะเนื้อหาฉบับใดฉบับหนึ่ง คนที่เรียนก็รู้เฉพาะแค่กฎหมายในฉบับนั้นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงยังมีกฎหมายในประเภทนั้นอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เรียน และไม่มีการสอนอย่างจริงจัง อีกทั้งต้องย้อนกลับมาดูการศึกษาของประเทศทั้งหมดว่าทำให้คนไทยเป็นอย่างไร เพราะปัญหาหลายอย่างต้องเริ่มต้นแก้ไขที่การศึกษา แม้จะเป็นการสร้างคนในยุคใหม่ก็ต้องทำ ส่วนผู้ที่ไปศึกษากฎหมายในต่างประเทศก็เป็นการศึกษาในลักษณะที่ต่อยอด หมายความว่าเมื่อไปเรียนก็ไม่รู้ว่าประเทศของเขาเรียนพื้นฐานมาอย่างไร เมื่อไปเรียนต่อยอดจบกลับมาแล้วทำให้เป็นปัญหา เพราะเมื่อกลับมาทำงานก็มีตำแหน่งใหญ่โต อีกทั้งยังนำความคิดในประเทศที่เรียนมายัดเยียดให้กับประเทศของตนเองโดยไม่ดูสภาพความเป็นจริง เช่น คนไปเรียนฝรั่งเศสรู้กฎหมายฝรั่งเศส กลับมาจึงยัดเยียดกฎหมายฝรั่งเศสให้กับประเทศไทย ที่ต่างกันราวฟ้ากับดิน” นายหัสวุฒิ กล่าว

ด้าน ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ประเทศไทยใช้หลักนิติรัฐในการปกครองที่มีการบังคับใช้กฎหมาย แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะแปลความกฎระเบียบหรือกฎหมายนั้นๆ ตามอำเภอใจ ทั้งนี้ รัฐบาลแต่ละชุดต่างก็ออกกฎระเบียบมาบังคับใช้ต่างๆ มากมาย เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาก็มีการเปลี่ยนนโยบายกฎกติกา ส่วนกระบวนการศาลในบ้านเรา ตนคิดว่าอำนาจทับซ้อนกัน ทำให้เกิดความสับสนทางกฎหมายและมีปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้อยู่ สำหรับระบอบประชาธิปไตยบ้านเรามีพรรคการเมืองมากกว่า 50 พรรค ตนขอถามว่า พรรคการเมืองเหล่านั้นเป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริงหรือเป็นแค่กลุ่มการเมือง เพราะพรรคการเมืองต้องไม่มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของ คนที่เป็นเจ้าของคือประชาชนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้ง ส.ส.เราต่างก็เห็นการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในสภา แต่ตนเห็นบางคนเป็นนักการเมืองมาหลายสมัยไม่เคยอภิปรายในสภา เพียงแค่อยากเข้ามาเป็นนักการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าครหา แต่เราจะโทษพรรคการเมืองและนักการเมืองไม่ได้ เราต้องโทษประชาชนที่เป็นผู้เลือกตั้งเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น