“จุรินทร์” เผยหลังประชุมซักนโยบายรัฐ 23-24 ส.ค.นี้ เผยรัฐบาล ฝ่ายค้านได้ฝั่งละ 11 ชั่วโมง วุฒิสภาได้ 6 ชั่วโมง นายกฯ ผู้นำฝ่ายค้าน หัวหน้าพรรค พล่ามอันลิมิเต็ด รับ ปชป.ได้เวลา 8.50 ชั่วโมง มี 60 ส.ส.รอลับมีด เล็งซักเอางบทำนโยบายมาจากไหน เชื่อแก้รัฐธรรมนูญมีวาระซ่อนเร้น สับรัฐบอกไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนแล้วบรรจุในนโยบายที่ต้องทำใน 1 ปีทำไม
วันนี้ (19 ส.ค.) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมฝ่ายค้าน เปิดเผยภายหลังจากการการประชุมเพื่อหารือถึงการเตรียมอภิปรายกรอบนโยบายรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 ส.ค.ว่า คณะกรรมการประสานงาน หรือวิปทั้ง 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา ได้ตกลงจัดสรรเวลาอภิปรายนโยบายรัฐบาล แบ่งเป็นของรัฐบาลในส่วนของรัฐมนตรีและ ส.ส.11 ชั่วโมง เช่นเดียวกับฝ่ายค้านที่ได้ 11 ชั่วโมง และวุฒิสภา 6 ชั่วโมง ซึ่งเวลาดังกล่าวจะไม่นับรวมเวลาอภิปรายของนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ที่อภิปรายได้ไม่จำกัดเวลา รวมทั้งไม่นับรวมเวลาประท้วงของแต่ละฝ่ายอีกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของฝ่ายค้านนั้นจะมีการจัดสรรเวลาตามสัดส่วน ส.ส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรคทั้ง 196 คน ไม่นับรวมหัวหน้าพรรค ซึ่งเบื้องต้นพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการจัดสรรเวลาอภิปราย 8 ชั่วโมง 50 นาที โดยมี ส.ส.ในพรรคแจ้งความจำนงขออภิปรายแล้ว 60 คน
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการอภิปรายของฝ่ายค้านนั้น ผู้อภิปรายจะอภิปรายโดยภาพรวม สามารถหยิบยกหัวข้อใดมาอภิปรายก่อนหรือหลังได้ ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับนโยบาย รวมไปถึงมีสิทธิในการอภิปรายในส่วนของตัวบุคคลผู้รับผิดชอบด้วย เพราะถือว่าเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูนโยบายเร่งด่วนที่ได้หาเสียงไว้ เมื่อเทียบกับนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภา ก็เป็นเพียงนโยบายแก้บน เพราะเมื่อไปสัญญาไว้ตอนหาเสียง ก็ต้องบรรจุไว้ในร่างนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีเครื่องหมายคำถามตามมาว่า จะนำงบประมาณมาจากส่วนไหน ใช้เงินเท่าไร และมีผลกระทบจากนโยบายเป็นอย่างไร
ในส่วนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายจุรินทร์กล่าวว่า เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใด ไม่ใช่ประโยชน์ของส่วนรวม แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะพยายามบอกว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เหตุใดจึงบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในโยบายรัฐบาลที่ต้องดำเนินการภายใน 1 ปี หรือที่บอกว่าเป็นเรื่องของรัฐสภา แต่กลับบรรจุเรื่องนี้ไว้ในนโยบายรัฐบาล จึงเชื่อว่าเป็นลีลานำไปสู่ประโยชน์ และมีนัยซ่อนเร้นมากกว่า