xs
xsm
sm
md
lg

มองลอดเก้าอี้ ปธ.สภาเห็นโควตาภาค-แฟมิลีคาบิเนต!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ผ่าประเด็นร้อน

เริ่มชัดเจนและเริ่มเดินไปข้างหน้ามากขึ้นสำหรับการฟอร์มรัฐบาล “ปู 1” ที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังจากเมื่อวานนี้ (1 สิงหาคม) พรรคเพื่อไทยได้ผ่านขั้นตอนตาม “พิธีกรรม” เสนอชื่อ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ ขณะเดียวกันให้ เจริญ จรรย์โกมล ส.ส.ชัยภูมิ เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2

นั่นหมายความว่าตามกำหนดการในวันนี้ (2 สิงหาคม) ซึ่งเป็นวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีการโหวตเลือกจาก ส.ส.ซึ่งก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรลงตัว ซึ่งจะเป็นคนเสนอชื่อ นายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนเป็นไปอย่างราบรื่น ทำให้การเมืองไทยเริ่มจะผ่านพ้นช่วงสุญญกาศในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ในการเสนอชื่อตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองคนที่ 1-2 ตามลำดับนั้นมันได้สะท้อนให้เห็นถึงพลังอำนาจที่ขับดันอยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยว่าเป็นอย่างไร เพราะภาพที่ปรากฏเกิดขึ้นมันสะท้อนให้เห็นถึงพลังของโควตาภาคและที่สำคัญต้องได้รับการผลักดันจาก “ขุมอำนาจ” แท้จริงภายในพรรคนั่นเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขึ้นสู่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนของสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 1 คือ เจริญ จรรย์โกมล ได้สะท้อนให้เห็นว่ามาจากโควตาภาคอีสาน ซึ่งไม่ต่างจากการที่ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ เป็นรองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 2 ก็เป็นโควตาภาคเหนือ ซึ่งเป็นไปตามสัดส่วน ส.ส.อย่างชัดเจน

แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็ยังเห็นความเคลื่อนไหวอื่นๆ ซ้อนเข้ามาอีก เช่น ในโควตาภาคนั้นมันยังต้องเป็นเสมือน “เด็กในบ้าน” ของเจ้าของพรรค ในที่นี้ก็คือ พจมาน ณ ป้อมเพชร ซึ่งในกรณีของเจริญ จรรย์โกมล ที่เป็น ส.ส.ชัยภูมิ ก็เป็นคนบ้านเดียวกัน จึงไว้วางใจได้ แม้อาจโต้แย้งว่าเขามีดีกรีเป็น ส.ส.เป็นประธานกรรมาธิการ ผ่านงานในสภามาพอสมควร มีความเหมาะสม ก็อาจกล่าวเช่นนั้นได้ แต่คนที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกันคนอื่นก็มีถมไป ทำไมถึงต้องบังเอิญมาลงที่ ส.ส.ชัยภูมิคนนี้ ขณะเดียวกัน สำหรับตำแหน่งประธานสภาของ สมศักดิ์ หากในแง่ของคุณสมบัติก็ถือว่ามีความเหมาะสมถ้าไปเทียบเคียงกับคนอื่นภายในพรรคเพื่อไทยด้วย แต่มันก็สะท้อนให้เห็นโควตาจากภาคอีสาน ที่มีเสียงเรียกร้องทั้งในตำแหน่งประธานสภาผู้แทนฯและรัฐมนตรีในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าต้องได้ไม่น้อยกว่า 10 เก้าอี้

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ปฏิเสธกันไม่ได้ก็คือ การคัดเลือกตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่งของพรรคเพื่อไทยนับจากนี้ไป เมื่อพิจารณาจากเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ และรองคนที่ 1 และ 2 แล้ว น่าจะมาจากองค์ประกอบหลักก็คือ “โควตาภาค” และ “เจ้าของพรรคตัวจริง” และแม้ว่าจะมีระบบโควตาก็ตาม แต่ทุกตำแหน่งก็ต้องได้รับ “ไฟเขียว” จากเจ้าของพรรค ซึ่งจะต้องไปแบ่งเค้กกันภายในครอบครัวเท่านั้น

เพราะหากพิจารณาจากตำแหน่งในสภาผู้แทนฯดังกล่าวบุคคลที่น่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลชี้นำสูงสุดน่าจะเป็น พจมาน ณ ป้อมเพชร นั่นเอง

ที่ผ่านมาหลายคนอาจหลงลืมไปว่าเธอเข้ามามีบทบาท เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวของ ทักษิณ ชินวัตร จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ในความจริงแล้วคนที่ “ร่วมกำหนดเกม” ก็คือ พจมาน ณ ป้อมเพชร นี่แหละ และคำว่า “นายกฯ หญิงตัวจริง” ก็ไม่น่าจะเกินจริงมากนัก

ดังนั้น หากจะให้จำกัดความให้เห็นภาพสำหรับการแบ่งสรรเก้าอี้ในตำแหน่งทางการเมืองก็ต้องแบ่งออกเป็นสองเกรด นั่นคืออย่างแรก พวก “เกรดเอ” หมายถึงตำแหน่งหลักที่ต้องสงวนเอาไว้สำหรับ “คนพิเศษ” ที่ไว้ใจได้เท่านั้น ไล่ลงมาตั้งแต่ประธานสภาผู้แทนฯต่อเนื่องมาถึงตำแหน่งรัฐมนตรี เช่น คลัง กลาโหม มหาดไทย ต่างประเทศ ยุติธรรม ไอซีที เป็นต้น ส่วนที่เหลือก็ว่ากันไปตามโควตาภาคที่เสนอตัวกันเข้ามา แต่คนที่ชี้ขาดขั้นสุดท้ายก็ยังเป็นคนใน “ครอบครัว” เป็นหลัก ที่ต้องไปแบ่งสรรกันเองว่าจะสนับสนุนใครกันบ้าง ภาพที่เห็นจึงไม่ต่างจากความหมาย “แฟมิลีคาบิเนต” ที่เคยกล่าวกันไว้

แน่นอนว่าหากพิจารณาจากตัวเลข ส.ส.ก็ย่อไม่แปลกใจว่าตำแหน่งทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารคือ รัฐมนตรีในรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องมาจากโควตาภาคอีสานเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาก็เป็นภาคเหนือ และกรุงเทพมหานครรวมทั้งภาคกลางตามลำดับ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่ “เกรดบี” ที่ต้องมีสกรีนกันภายหลัง เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าตำแหน่งหลักได้มีการเคาะเอาไว้ล่วงหน้าลงตัวกันไปแล้ว และที่บอกว่าคนนั้นคนนี้มาคนนี้ไป เป็นเพียงการปล่อยข่าวออกมาให้มีสีสันสนุกๆ ไปวันๆ เท่านั้นเอง

และนาทีนี้คนที่กำหนดเกมก็ไม่น่าจะใช่ว่าที่นายกฯหญิง ยิ่งลักษณ์ แน่นอน!!
ทักษิณ ชินวัตร
พจมาน ณ ป้อมเพชร
กำลังโหลดความคิดเห็น