สภากลาโหม เสียใจกำลังพลสูญเสียเหตุ ฮ.ตก สั่งทุกหน่วยให้ความสำคัญตามกฎนิรภัยการบิน-ยันพร้อมคุยจีบีซีเขมร เล็งชง ครม.พิจารณาประเด็นอื่น ก่อนนำเข้าสู่สภา โยนกรมกิจการชายแดนทหาร ประสานเพื่อนบ้าน
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่กระทรวงกลาโหม พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมสภากลาโหม ว่า ที่ประชุมวันนี้มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกลาโหม ไม่ได้เข้าเป็นประธานการประชุม โดยมอบหมายให้ พล.อ.กิตติพงษ์ เกษโกวิท ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมแทน พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และผู้แทนจากเหล่าทัพอื่น พร้อมนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องประชุมอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กับ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ไม่ได้เข้าร่วมประชุมเนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ
พ.อ.ธนาธิป แถลงว่า ในที่ประชุมสภากลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้นและครอบครัวผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์อุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบกที่ประสบอุบัติเหตุในพื้นที่แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งทางสภากลาโหมขอเป็นกำลังใจให้กำลังพลทุกนาย ให้มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้หน่วยงานที่มีอากาศยานในความรับผิดชอบได้ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎนิรภัยการบิน ก่อนนำอากาศยานไปปฏิบัติภารกิจเพื่อเป็นการรักษาบุคลากรด้านการบินและ ทรัพย์สินของทางราชการ” โฆษกกลาโหม ระบุ
โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังแถลงถึงกรณีเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอดรับคำตัดสินของศาลโลกกรณีเขาพระวิหาร ว่า วันนี้ที่ประชุมสภากลาโหมเสนอความเห็นในเรื่องนี้ ว่า เรื่องนี้น่าจะใช้กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานความมั่นคงเป็นช่องทางที่ใช้การเจรจาหารือกับฝ่ายกัมพูชา ในกรอบของการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) โดยแนวทางดังกล่าวกระทรวงกลาโหมมีความพร้อม และเห็นพ้องที่จะใช้กลไกแบบทวิภาคี รวมทั้งที่ผ่านมาได้มีการเสนอกรอบวาระที่จะมีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปครั้งที่ 8 เข้าสู่การพิจารณารับรองของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาแล้ว โดยเนื้อหาเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการดูแลความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามแนวชายแดนของทั้งสองประเทศ ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาขยายกรอบการเจรจาให้ครอบคลุม ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วจึงนำเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณารับรองให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐ ธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย ตาม ม.190
“การประชุมจีบีซี ที่จะมีขึ้นในครั้งต่อไปมีวาระสำคัญที่ต้องมีการเจรจาเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกระทรวงกลาโหมได้มอบหมายให้ กรมกิจการชายแดนทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นหน่วยประสานงาน ในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติร่วมกัน โดยมีซึ่งต้องมีความโปร่งใสเสมอภาค และยุติธรรม” โฆษกกลาโหม ระบุ