เลขาฯ กกต.แจงเหตุบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ-แบบเบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนไม่เท่ากันถือเป็นเรื่องปกติ ชี้ไม่กระทบต่อคะแนนเลือกตั้ง พร้อมทบทวนปรับปรุงกฎกติกาให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติ เผย กกต.เตรียมพิจารณา เรื่อง “เจ๊ปู” ผัดหมี่โคราช 12 ก.ค.นี้
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวชี้แจงกรณีที่นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมืองได้ตั้งข้อสังเกตในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาว่า มียอดตัวเลขความคาดเคลื่อนของบัตรเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบบัญชีรายชื่อ และแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ต่างกันถึง 83,000 ใบว่า กรณีดังกล่าวจำนวนตัวเลขของบัตรเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 2 แบบที่มีจำนวนไม่เท่ากันนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมาก็มีกรณีแบบนี้เกิดขึ้น เนื่องมาจากมีการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตจังหวัดและเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรที่มีการส่งบัตรเลือกตั้งทางไปรษณีย์ โดยไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ใส่บัตรเลือกตั้งในซองจดหมายของ กกต.ครบทั้งสองแบบหรือไม่ จึงทำให้ยอดบัตรเลือกตั้งไม่ตรงกัน แต่เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหา เพราะไม่ได้กระทบต่อผลคะแนนในการเลือกตั้ง ส่วนจำนวนความคาดเคลื่อนในขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการสอบถามไปยัง กกต.จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตว่ามีจำนวนแตกต่างกันเท่าไหร่
“ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2544 มีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 29,909,271 ใบ บัตรเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตมีจำนวน 29,904,940 ใบ ส่วนการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2548 มีบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 32,341,330 ใบ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตมีจำนวน 32,337,611 ใบ จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา มียอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสองระบบจะไม่เท่ากัน ที่เห็นได้ชัดคือบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้” นายสุทธิพลกล่าว และว่า ทั้งนี้ กกต.ได้มีการทบทวนการจัดการเลือกตั้งในกรณีต่างๆ เช่น การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีการใช้สิทธิทางไปรษณีย์ การเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด หรือการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่สิทธิ์จะมีอยู่ตลอดไปจนกว่าจะไปแจ้งเปลี่ยนแปลงการขอใช้สิทธิ ซึ่ง กกต.ต้องทบทวนและเสนอปรับปรุงกฎกติกาให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติต่อไป
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่ากรณีของจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งสองแบบที่มีจำนวนไม่เท่ากันเป็นผลมาจากกระแสของการโหวตโน นายสุทธิพลกล่าวว่า กกต.ไม่อาจสรุปได้ว่าการโหวตโนส่งผลให้เกิดบัตรเสีย เพราะจากสถิติการโหวตโนในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมามีสถิติร้อยละ 2.72 เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2550 ซึ่งมีร้อยละ 2.85 รวมทั้งการโหวตในในการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. มีสถิติร้อยละ 4.03 เทียบกับการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550 มีสถิติร้อยละ 4.58 เท่ากับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนโหวตโนน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2550
เมื่อถามถึงกรณีที่มีอดีตผู้สมัคร ส.ส.หลายจังหวัดได้มีการร้องขอให้ กกต.นับคะแนนเลือกตั้งใหม่ นายสุทธิพลกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวก็เป็นสิทธิที่ผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งสามารถร้องเรียนเข้ามาได้ แต่ กกต.จะต้องตรวจสอบและพิจารณาตามข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้กกต.ยืนยันว่าการร้องขอให้มีการนับคะแนนเลือกตั้งใหม่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 12 ก.ค. เพราะยังมีผู้สมัครที่ได้รับการเลือกตั้งและไม่มีเรื่องร้องเรียนใดๆ ซึ่ง กกต.สามารถประกาศรับรองได้ทันที
เมื่อถามถึงกรณีที่ กกต.จว.นครราชสีมาส่งคำร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทยไปแจกผัดหมี่โคราช ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสีมา ว่ากรณีดังกล่าวก่อนหน้านี้ทาง กกต.จว.นครราชสีมาได้ส่งเรื่องมายังฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลาง โดยพิจารณาเห็นว่า กกต.จว.นครราชสีมาควรดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมและส่งมาให้ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลางอีกครั้ง โดยในขณะนี้เรื่องดังกล่าวได้ส่งกลับมาที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลางเพื่อสรุปความเห็น ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กกต.ได้ในวันที่ 12 ก.ค.นี้