ผอ.ศูนย์เลือกตั้ง ปชป.เร่งปรับกลยุทธ์หาเสียงในพื้นที่ 33 เขต กทม. หลังโพลหลายสำนักชี้ถูกทิ้งห่างก่อนโค้งสุดท้าย เตรียมจัดแคมเปญเพิ่มเช้า-เย็น เน้นจัดปราศรัยใหญ่ 16-19 มิ.ย.นี้ ด้าน “บุญยอด” จี้ กกต.สอบแกนนำ นปช.ใช้วิทยุชุมชนเชียร์พวก สั่งเข้มห้ามส่งเอสเอ็มเอสเชียร์หน้าจอทีวี
วันนี้ (13 มิ.ย.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง กล่าวภายหลังการประชุมผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตทั้ง 33 เขตใน กทม.ว่า วันนี้ผู้อำนวยการแต่ละเขตได้มาสะท้อนถึงปัญหาต่างๆ ในพื้นที่แต่ละเขต ซึ่งพบว่ามีการทำลายป้ายหาเสียงเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะรูปหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในสนาม กทม.ชั้นนอก นอกจากนี้ พรรคมีการเตรียมการออกแคมเปญหาเสียงนอกเหนือจากการปราศรัยในช่วงเช้า และช่วงเย็นแล้ว จะมีการปราศรัยใหญ่ในอีกครั้งใน กทม. โดยวันที่ 16 มิ.ย.จะปราศรัยใหญ่ที่วงเวียนใหญ่ โดยจะมีแกนนำและหัวหน้าพรรคไปร่วมกันปราศรัย และพูดถึงนโยบายต่างๆ ในการแก้ปัญหาให้กับชาว กทม.ในฝั่งธนบุรี อาทิ การสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมต่อฝั่งธนฯ มาพระนคร วันที่ 17 มิ.ย. จะมีการปราศรัยสวนเบญจศิริ และวันที่ 19 มิ.ย.จะปราศรัยใหญ่ที่ตลาดลำผักชี
นายอภิรักษ์ยังกล่าวถึงกรณีทีโพลหลายสำนักออกมาระบุว่ามีกลุ่มตัวอย่าง 40-50 เปอร์เซ็นต์ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดว่า ตนเชื่อว่ามีประชาชนส่วนหนึ่งไม่กล้าแสดงความคิดเห็นตรงๆ หรือเป็นกลุ่มที่ประชาชนตัดสินใจแล้วแต่ไม่กล้าแสดงความเห็น แต่พรรคก็ได้วิเคราะห์ถึงผลโพลต่างๆ และไม่ได้นิ่งนอนใจมีการปรับปรุงกลยุทธ์ เทคนิคหาเสียงต่อเนื่อง แต่ไม่เชื่อว่าผลการเลือกตั้งออกมาพรรคจะแพ้หลุดลุ่ยเหมือนที่โพลระบุ แต่จะมีการแข่งขันกันอย่างสูสี ซึ่งการเลือตกั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้33ที่นั่งจาก 36 ที่นั่ง ส่วนที่พรรคยังไม่มี ส.ส.ในพื้นที่ คือ สายไหม ดอนเมือง หนองจอก ทางพรรคก็ต้องพยายามต่อไป และหากแยกย่อยในรายละเอียดแต่ละพื้นที่จะพบว่าพรรคมีคะแนนชนะพรรคเพื่อไทยในเขต กทม.พื้นที่ชั้นใน ส่วน กทม.ชั้นนอกนั้นเรายังมีคะแนนตามอยู่ ซึ่งพื้นที่ กทม.มีกระแสการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ที่สำคัญคืออยากเรียกร้องให้ประชาชนตัดสินใจโดยมองไปข้างหน้า โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ตั้งใจว่าจะไม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและกลุ่มเยาวชนที่ใช้สิทธิครั้งแรก
ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ผ่านตนได้มีโอกาสเดินทางไปยัง จ.ชลบุรี พบว่ามีการจัดรายการวิทยุท้องถิ่น โดยให้นายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ แกนนำ นปช.จัดรายการ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการถ่ายทอด กทม.หรือจัดในพื้นที่ แต่เป็นเรื่องที่ไม่ควรที่จะให้มีการจัดรายการวิทยุเชียร์พรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะสื่อมวลชนจะต้องเป็นกลาง ดังนั้น ขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ดูแลควบคุมไปยังวิทยุชุมชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีการพาดพิงว่านายกรัฐมนตรีฆ่าประชาชน ส่วนกรณีที่ กกต.มีกฎว่าห้ามเผยแพร่การผลสำรวจโพลก่อนวันเลือกตั้ง 7 วันเพราะจะเป็นการชี้นำนั้น ส่วนตัวอยากให้ กกต.ไปตรวจสอบการส่งเอสเอ็มเอสบนจอทีวีตามรายการต่างๆ ในช่วงเวลา 7 วันก่อนการเลือกตั้งด้วย เพราะถือว่าเป็นการชี้นำได้อย่างหนึ่ง เพราะไม่ทราบว่าโปรดิวเซอร์ หรือบรรณาธิการรายการจะมีความเป็นกลางมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากไม่สามารถเผยแพร่ได้ก็ควรจะมีการวางกฎระเบียบให้ชัดเจน ถึงแม้รายการจะเป็นกลาง แต่ผู้ชมรายการก็มีการส่งข้อความที่จูงใจที่สามารถเปลี่ยนทิศทางการตัดสินใจของประชาชนได้ บางครั้งก็มีถ้อยคำหยาบคายด้วย