“โฆษกมาร์ค” ท่องคาถาจัดเลือกตั้งฝ่าวิกฤตการเมือง ย้ำ ปชป.มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร-กระสุนและนโยบาย ตะเบ็งคอเชียร์ “มาร์ค” นั่งนายกฯ รอบสอง เชื่อไม่ยุบสภา 19 เม.ย. เพราะการพิจารณา กม.ลูกยังไม่แล้วเสร็จ เย้ย “บิ๊กจิ๋ว” ฝันเฟื่อง แนะรักษาเก้าอี้ตัวเดียวในภาคใต้ให้รอดก่อนฝันกวาดที่นั่งเพิ่ม แนะให้ไปกระโดดแม่น้ำโขงตามคำสาบาน
วันนี้ (5 เม.ย.) นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการปล่อยข่าวว่า จะไม่มีการเลือกตั้งทั้งที่แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาระบุถึงผู้จัดการปฏิวัติ รวมถึงการที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มบุคคลใดก็ได้ออกมาล้มกระดานการเมืองนั้น พรรคยังเชื่อมั่นว่าคนไทยคงไม่มีใครคาดหวังให้เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นหนทางที่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤต
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. บุคลากร ซึ่งพรรคยังคงชูนายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ หนที่ 2 และ สส. ทั้ง 172 คนยังมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับพรรคต่อไป และผู้สมัครทุกคนเตรียมถ่ายรูปจัดทำโปสเตอร์รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในวันที่ 5-7 เม.ย. รวมทั้งผู้สมัครหน้าที่ที่จะเข้ามาทำงานกับพรรคก็มีความพร้อม 90% ซึ่งทั้งหมดจะมีความชัดเจนหลังช่วงสงกรานต์ ทั้งระบบเขตและสัดส่วน ความพร้อมด้านที่ 2 คือ นโยบาย ซึ่งฝ่ายยุทธศาสตร์ได้เตรียมนโยบายไว้เรียบร้อยแล้ว และขณะนี้พรรคได้จัดทำแผ่นพับเพื่อให้ผู้สมัครของพรรคนำไปแจกจ่ายในพื้นที่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พื้นที่ละ 3 หมื่นชุด โดยครอบคลุมนโยบายด้านครอบครัว เศรษฐกิจ และระดับประเทศ รวมถึงผลงานรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่ที่พรรคเพื่อไทยระบุว่าจะลอกนโยบายนั้น ขอเรียนว่าพรรคประชาธิปัตย์กลัวที่จะถูกลอกและนำไปต่อยอดมากกว่า พรรคประชาธิปัตย์ผ่านการระดมทุนและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่เพียงพอจะใช้ตามระเบียบของ กกต.ที่จะใช้ได้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคพยายามปล่อยข่าวว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นแผนของนายทุนพรรคจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินให้กับลูกพรรค โดยใช้ข้อแก้ตัวกับลูกพรรคว่าที่ไม่ให้เงินลงพื้นที่เพราะไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่
นายเทพไทกล่าวถึงกรณีที่นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ออกมาระบุว่าจะมีการยุบสภาในวันที่ 19 เม.ย.ว่า น่าจะเป็นเรื่องของการคาดการณ์และวิเคราะห์ทางการเมืองมากกว่า ถ้าดูเหตุผลความพร้อมการเลือกตั้งแล้วไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะแม้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับจะผ่านกาพิจารณาของ ส.ส.ไปแล้วก็ตาม แต่ขั้นตอนจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของวุฒิสภา ยังไม่สามารถนำมาประกาศใช้ได้อยู่ดี และความพร้อมของ กกต.ในเรื่องการแข่งเขตเลือกตั้งก็ยังไม่มีการประกาศ ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้สมัคร ซึ่งจะต้องรอให้มีความชัดเจนเสียก่อน อีกทั้งในช่วงดังกล่าวยังไม่มีปัจจัยใดๆ ต้องเร่งรีบให้มีการยุบสภาก่อนที่นายกฯ ประกาศไว้ เพราะฉะนั้นต้องรอฟังคำตอบจากนายกฯ เพียงคนเดียวซึ่งมีอำนาจในการยุบสภาตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายพร้อมพงศ์ ที่ออกมาพูดเรื่องหมอดู ฤกษ์ยามในวันยุบสภา ก็เป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลทั้งสิ้น
ส่วนกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวในที่ประชุมสัมมนาสส.ภาคใต้ของพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเพื่อไทยได้คะแนนดีขึ้นและจะได้ ส.ส.เพิ่มขึ้น 6-7 ที่นั่ง อยากถามว่าขณะนี้มี 1 ที่นั่ง ก็ขอให้รักษา 1 ที่นั่งให้ได้ก่อนที่จะคิดถึง 6-7 ที่นั่ง และอยากถามว่า 6-7 ที่นั่ง อยู่ในพื้นที่ใด ประชาชนจะได้อธิบายว่าจะเป็นจริงได้หรือไม่ ทั้งนี้คาดว่าพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยคาดว่าจะได้ที่นั่งคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะคนพวกนี้คิดว่าพื้นที่ดังกล่าวเอาเงินไปซื้อคะแนนนิยมได้ แต่ในความเป็นจริงจะเห็นว่าการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา ประชาชนได้ให้บทเรียน พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน มาแล้วครั้งนี้เชื่อว่าจะให้บทเรียนกับพรรคเพื่อไทยอีก นอกจากนี้ยังเชื่อมั่นในวุฒิภาวะของประชาชนในพื้นที่ที่จะเลือกผู้สมัครของพรรคการเมืองใดที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศ
นายเทพไทกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิตออกมากล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์กรณีเรื่องแก้ปัญหาน้ำท่วมว่า 65 ปี ของพรรคประชาธิปัตย์ปล่อยให้มีน้ำท่วมได้อย่างไรควรไปกระโดดแม่น้ำตาปี ว่า เหตุการณ์น้ำท่วมไม่เกี่ยวกับ 65 ปีของประชาธิปัตย์แต่เป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ฉะนั้น พล.อ.ชวลิตไม่จำเป็นต้องแนะนำให้พรรคประชาธิปัตย์ไปกระโดดแม่น้ำตาปี แต่อยากถามว่าสิ่งที่ พล.อ.ชวลิตเคยสัญญากับชาวอีสานว่าจะไปกระโดดแม่น้ำโขงตายนั้นได้ทำแล้วหรือยัง
นายเทพไทกล่าวว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทยออกมาทวงสิทธิว่าพรรคอันดับหนึ่งควรได้รับการจัดตั้งรัฐบาล ตนคิดว่าเป็นการตื่นตระหนกเกินเหตุเพราะผลการเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พรรคการเมืองใดจะได้เสียงข้างมาก และถ้าดูการจัดตั้งรัฐบาลช่วงหลังจะเห็นว่าการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีในสภา เป็นเรื่องของหัวหน้าพรรคทุกพรรคเสนอตัวให้สมาชิกคัดเลือก ดังนั้น การที่จะมาบอกให้พรรคอันดับหนึ่งเสนอตัวถือว่าไม่เป็นไปตามกลไกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้ทุกพรรคมีสิทธิแข่งขัน