xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณทะแม่งจากภูมิใจไทย “ยื้อโหวต” ซักฟอก!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

สภาพการอภิปรายในญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งหากนับมาจนถึงวานนี้ (16 มีนาคม) ก็เข้าล่วงสู่วันที่ 2 แล้ว จากที่มีการกำหนดเอาไว้สำหรับการอภิปรายเป็นเวลา 4 วัน เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ให้ไปสิ้นสุดในวันที่ 18 มีนาคม และลงมติวันที่ 19 มีนาคม

อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อตอนเช้าวานนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ชัย ชิดชอบ ได้ส่งสัญญาณมาล่วงหน้าแบบ “โยนหิน” ถามทางมาว่าอาจต้องเลื่อนการลงมติออกไปเป็นวันอังคารที่ 22 มีนาคม เนื่องจากในวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม จำเป็นต้องใช้สถานที่รัฐสภา สำหรับงานสัมมนาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
 

ถัดมาก็มีเสียงการให้สัมภาษณ์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โสภณ ซารัมย์ ที่เป็นหนึ่งใน 9 รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก แม้ระบุว่าจะไม่หนักใจกับการชี้แจง เนื่องจากเห็นว่าฝ่ายค้านได้ใช้ข้อมูลเก่าที่ “ตัดแปะ” มาจากหนังสือพิมพ์ก็ตาม แต่ก็ยอมรับว่าจะมี ส.ส.บางส่วนที่ “โหวตสวน” เสียงส่วนใหญ่ พร้อมทั้งออกมาเตือนในเรื่อง “มารยาท” ในการร่วมรัฐบาล ไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆด้วย

ขณะเดียวกัน หากลองย้อนกลับไปดูการอภิปรายไม่ไว้วางใจวันแรก วันที่ 15 มีนาคม ก็ต้องยอมรับว่า รัฐมนตรีที่ “โดนหนัก” มากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พรทิวา นาคาศัย ในเรื่องการบริหารงานล้มเหลว ไม่สามารถดูแลปัญหาข้าวของแพง ขาดแคลนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่อไปในทางทุจริต อีกทั้งการชี้แจงก็ดูแลติดๆขัดๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะเป็นคนพูด “ไม่คล่อง” แต่ถึงอย่างไรเมื่อพิจารณาตามข้อมูลที่ชี้แจงหลายประเด็นยังไม่ค่อยเคลียร์

ส่วนรัฐมนตรีขึ้นเขียงรายต่อไป ต่อเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรณ์ จาติกวณิช ก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ซึ่งเชื่อขนมกินได้ก่อนเลยว่าจะต้อง “หนักหน่วง” โดยธรรมชาติอยู่แล้ว สำหรับกระทรวงปกครองที่เกี่ยวข้องกับชาวบ้านตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ปัญหาก็คือ คนที่เป็นเจ้ากระทรวงในปัจจุบัน คือ “เสี่ยจิ้น” ที่หันเหมาจาก “ธุรกิจรับเหมา” มาเป็น มท.1 ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์เห็นหลายครั้งแล้วว่า มีปัญหาในเรื่องของการชี้แจง ไม่มีความถนัด จนออกมาในลักษณะ “ท่องบท” ที่เขียนเอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งฝ่ายค้านก็รู้จุดอ่อนข้อนี้ดี

ดังนั้น เมื่อสรุปในภาพรวมเบื้องต้นจะเห็นว่า รัฐมนตรีจากค่ายภูมิใจไทย ถือว่า “อ่วม” ที่สุด และบุคคลที่ออกมาส่งสัญญาณ “ผิดปกติ” ก็ล้วนมาจาก “คอก” เดียวกัน ทั้งสิ้น

เพราะหากพิจารณากันเป็นรายบุคคล ถือว่าพรรคภูมิใจไทยโดนกันครบเซต เริ่มจากหัวหน้าพรรคคือ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองหัวหน้าพรรคคือ โสภณ ซารัมย์ เลขาธิการพรรคคือ พรทิวา นาคาศัย นี่ยังไม่นับตัวประกอบที่โผล่มาในตอนท้ายคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ศุภชัย โพธิ์สุ เมื่อรูปการเป็นแบบนี้จะให้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร อย่าง ชัย ชิดชอบ จากพรรคเดียวกันอยู่นิ่งเฉยได้อย่างไร มันก็ต้องมี “แอ็กชัน” บางอย่างออกมาให้เห็น

เมื่อสภาพที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าเป็นแบบนี้มันก็ต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่ เพราะพรรคภูมิใจไทยของ เนวิน ชิดชอบ ในเวลานี้ “ไม่มีกระแส” หนุนส่ง อาจมีเพียง “กระสุน” ที่ตุนเอาไว้เต็มกระเป๋า แต่เมื่อพิจารณาจากพื้นที่ในภาคอีสานที่ฐานเสียงทับซ้อนกันนั้น เปรียบเทียบกับฝ่ายตรงข้ามในสนามเลือกตั้ง ก็ต้องยอมรับว่า ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงยัง “แน่นปึ้ก” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่เอาไหนของ ฝ่ายความมั่นคงที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ และ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำผลงาน “ห่วยแตก” จนขยายพื้นที่ออกไปกว่าเดิมไม่ได้

ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่เวลานี้บรรดาพรรคร่วมที่เป็นพรรคขนาดกลาง ขนาดย่อม อย่างภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนาต่างออกมา “เบรก” เกมยุบสภาในสัปดาห์แรกของเดือนพฤษภาคมออกไปอย่างไม่มีกำหนด อ้างว่ารัฐบาลยังต้องแก้ปัญหาให้ชาติบ้านเมืองอีกหลายอย่าง

อย่างไรก็ดี การส่งสัญญาณดังกล่าวของพรรคขนาดกลาง ใช่ว่าจะไม่มีความหมาย เพราะต้องไม่ลืมว่า หากจะให้เลือกตั้งทันตามกำหนดในเดือนพฤษภาคมได้ ก็ต้องผ่านกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจำนวน 3 ฉบับตามข้อเสนอของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาให้ได้เสียก่อน ซึ่งนั่นก็ย่อมหมายถึงต้องใช้เสียงจากพรรคร่วมรัฐบาลผนึกกำลังยกมือสนับสนุนด้วย นี่แหละถึงได้บอกว่ามันไม่ง่ายอย่างที่คิด

เมื่อพิจารณาจากอาการดังกล่าว เหมือนกับว่าต้องการยื้อ “ต่อรอง” เพื่อให้แน่ใจว่าผลโหวตที่ออกมาต้องออกมาเป็นแพ็กเท่ากันหมด ไม่งั้นมีเรื่อง เหมือนกับคราวที่แล้วที่มี ส.ส.จากพรรคเพื่อแผ่นดินส่วนหนึ่ง “โหวตสวน” มาแล้ว และคราวนี้ถ้าเกิดเหตุซ้ำรอยแม้ว่าจะมาจากมือของ ส.ส.พรรคอื่นก็ตาม ก็คงจะได้รับการตอบแทนอย่างสาสมเหมือนกัน อย่างน้อยเท่าที่เห็นตรงหน้าก็มี ร่างกฎหมายลูกสำหรับการเลือกตั้ง 3 ฉบับที่จ่อเข้าสภาคงไม่ผ่านไปได้ง่ายๆ ซึ่งก็ย่อมส่งผลต่อการยุบสภาที่ต้องทอดเวลานานออกไป

ขณะเดียวกัน หากตารางการยุบสภา และการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามคำพูด และถูกยื้อออกไป คนที่เสียรังวัด ก็ย่อมกลายเป็น นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนาทีนี้ทุกชั่วโมงที่ผ่านไปยังมองไม่เห็นแต้มบวก ยิ่งนานไปจะสาหัสแค่ไหนลองนึกดูกันเอาเอง!!
กำลังโหลดความคิดเห็น