xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.สุรชาติ” ออกโรงแถ ไทยต้องจำนนเขาวิหารเป็นของเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ดร.สุรชาติ” อ้างไทยขอพิมพ์แผนที่เพิ่มเท่ากับรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เหน็บพันธมิตรฯ รั้น รบ.จอมพลสฤษดิ์ขีดเส้นเขาวิหารให้เขมรนานแล้ว ฉายซ้ำไม่ใช้สิทธิ 10 ปีเท่ากับสละสิทธิ ยันแผนที่ไม่ใช่ดาวินชีโค้ดจึงไม่มีความลับ บอกถ้าไม่ยอมรับก็ต้องไปรบที่ภูมิซรอล

ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วานนี้ 17 ก.พ. 2554 มีการจัดเสวนาวิชาการ “รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” ณ ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวในงานดังกล่าวในประเด็นพิพาทไทย-เขมร โดยมีใจความว่า รัชกาลที่ 5 เกรงว่าฝรั่งเศสจะรุกรานไทยจนตกเป็นเมืองขึ้้น จึงเอาด่านซ้าย ตราด และส่วนในของเกาะกูด-แหลมสิงห์กับมณฑลพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เข้าแลก แล้วปักปันเขตแดนว่าตรงไหนเป็นของไทย ตรงไหนเป็นของฝรั่งเศส จนเป็นแผนที่แนบท้ายสัญญาปักปัน ค.ศ. 1907 ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือจะใช้อะไรแบ่งเขตแดน ระหว่างอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ให้ใช้สันปันน้ำ กับปี ค.ศ. 1908 ให้ใช้เส้นเขตแดน ในการนี้ รศ.สุรชาติยังยืนยันด้วยว่า แผนที่แบนาร์ ไม่ใช่ฝรั่งเศสทำฝ่ายเดียว มีคนไทยโดย พล.อ.หม่อมชาติเดชอุดม ร่วมปักปันด้วย แต่ไม่รู้ทำไมเรียกว่าแผนที่แบนาร์ ไม่เรียกว่าแบร์นา-เดชอุดม

“เมื่อปักปันแล้วตัดออกเป็นส่วนๆ เป็น 11 ส่วน หรือ 11 ระวาง ปัจจุบันเป็นที่เข้าใจว่าคือ แผนที่ 1 ต่อ 200,000 โดยแผนที่นี้ตีพิมพ์เสร็จปี ค.ศ. 1908 รัฐบาลสยามส่งสัญญาณขอให้ตีพิมพ์เพิ่มอีก 50 ชุด ฉะนั้น คำขอโดยจดหมายของรัฐบาลไทย ถือเป็นการยอมรับว่าสยามยอมรับการปักปันเขตแดนแล้ว เรื่องเอกสารลับหรือแผนที่ลับ ยืนยันว่าไม่มีเป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่ดาวินชี่โค้ด ความตกลงต้องทำโดยเปิดเผย”

รศ.สุรชาติกล่าวอีกว่า รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจชัดเจนว่าตัวปราสาทมีพื้นที่กำกับ ครม. ปี 2505 ลากเส้นกำกับตัวปราสาทเขาพระวิหาร วันนี้ถ้าเราไม่ทะเลาะกันอย่างนี้ เราก็เปิดแผนที่แล้วใช้มติ ครม.ปี 2505 แต่มันเกิดข้อโต้แย้งในคนรุ่นปัจจุบันที่สะพานมัฆวานฯ ว่ากัมพูชาได้แต่ตัวปราสาท แต่พื้นที่แม้แต่ใต้ตัวปราสาทก็เป็นของไทย แต่ท่านต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ขีดเส้นแล้ว และเมื่อศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเป็นของกัมพูชา เราไม่โต้แย้งสิทธิภายใน 10 ปี และไม่มีหลักฐานใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล ดังนั้นผมคิดว่าต้องยอมรับว่าสิ้นสุดแล้ว เพราะเราไม่เคยแสดงหลักฐานใหม่ที่มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาล

ทั้งนี้ ไทยเคยรบกับฝรั่งเศสที่ช่องจอม เมื่อ พ.ศ. 2483 สุดท้ายญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ย จนเกิดอนุสัญญาโตเกียว 2484 เราได้พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก ไทยคืนดินแดนทางใต้ให้อังกฤษทันที แต่ไม่คืน จำปาศักดิ์ เสียมราฐ ศรีโสภณ อย่างไรก็ดี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยต้องการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ-ยูเอ็น ถ้าเราอยากเป็นสมาชิกยูเอ็นแล้วยึดครองดินแดนของฝรั่งเศสเขาไว้ เขาจะยอมให้เราเข้าหรือ สุดท้ายถอยกลับไปสู่จุดเดิมคือตั้งคณะกรรมการประนอม ในท้ายที่สุดเราทำอนุสัญญาวอชิงตันคืนให้ฝรั่งเศสทั้งหมด คำถามคือคืนพระวิหารให้หรือเปล่า

รศ.สุรชาติกล่าวว่า ถ้ายกเลิก MOU 2543 ก็ต้องย้อนกลับไปใช้อนุสัญญา และสัญญา 3 ฉบับข้างต้น อีกอย่างถ้าเลิกโดยที่รัฐภาคีไม่ยอมรับไม่ได้ จะสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้ประเทศ พร้อมกับย้ำแผนที่ 1 ต่อ 50,000 เป็นแผนที่สำหรับภารกิจทางทหาร ไม่ใช่แผนที่เพื่อการปักปันเขตแดน ส่วนพื้นที่ทับซ้อนคืออะไร ก็คือพื้นที่เขตแดนตามที่คณะกรรมการปักปันได้ทำไว้ในปี ค.ศ. 1907 ถ้าถือเส้นเขตแดนตามคณะกรรมการปักปัน ค.ศ. 1904 เส้นเขตแดนอยู่ที่หน้าผาของพระวิหาร แต่ ค.ศ. 1907 ศาลโลกรับข้อ 3 เพราะรัฐบาลที่กรุงเทพฯ รับแผนที่แล้ว ดังนั้น รอยเหลื่อมที่หน้าผาตามแนวสันปันน้ำ ส่วนต่างตรงนี้คือพื้นที่ทับซ้อน ถ้าหากไทยไม่ยอมรับ ก็ต้องไปรบที่ภูมิซรอล หรือกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ใหม่ เพราะรัฐบาลแต่ละช่วงดำเนินการด้วยนความละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่จนรัฐบาลไทยถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกดังที่เคยเป็นมาแล้วเมื่อปี 2505

คำพูดฉบับเต็ม

รศ.สุรชาติ บำรุงสุข กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ “รัฐศาสตร์ภาคประชาชน ครั้งที่ 1” หัวข้อ “ฝ่าวิกฤตชายแดนไทยเขมร” ณ ห้องประชุมมาลัยหุวนันท์ ตึก 3 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า “กรอบที่ผมจะพูด อยากพูดจากภาพกว้างๆ เริ่มต้นด้วยคำถามง่ายๆ คนในห้องนี้ไม่มากเท่าไหร่ เข้าใจว่าทุกคนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือ สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) ไม่ได้เรียนผ่านประวัติศาสตร์โดยตรง ตอนเรียน สปช. ความทรงจำเรื่องรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ว่าจำอะไรได้บ้าง เข้าใจว่ามีความทรงจำเหลืออยู่น้อยมาก สปช.พูดถึงการเสียดินแดนแบบผิวเผินมาก คนที่เรียน สปช.แล้ว เข้าใจการเผชิญกับลัทธิอาณานิคมหรือไม่ การกล่อมเกลาโดยการเรียน สปช.นั้น ทำให้เราไม่ค่อยรู้เรื่อง

คนไทยรุ่นหลังลืมไปแล้วว่า ปราสาทพระวิหารถูกตัดสินไปแล้วในปี 2505 ผมไม่ได้เดินขบวนครั้งแรกช่วง 14 ตุลา ชีวิตครั้งแรกของการอยู่ในม็อบของผมคือภายใต้คำสั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หากเราไล่เรียงประวัติศาสตร์ พูดแบบตัดตอน ฝรั่งเศสเข้ามาและได้ไซ่ง่อน (เวียดนาม) ค.ศ. 1859 แล้วเริ่มขยายอิทธิพลสู่ลำน้ำโขง หลายส่วนที่ขยายเข้าไปก็ปะทะกับเจ้าพ่อท้องถิ่นหรือคนมีอำนาจรัฐอยู่ในท้องถิ่นหลัก 3 ราย รายหนึ่งโพกผ้าบนศีรษะอยู่สาละวิน รายหนึ่งอยู่ตรงกลาง อีกรายหนึ่งคือเจ้าพ่อเหงียน

พอเข้าช่วงรัชกาลที่ 3 ไซ่ง่อนแตก เหลือเจ้าพ่อรายใหญ่รายเดียวอยู่ลุ่มเจ้าพระยา เมื่อเผชิญกับเจ้าพ่อแห่งปารีส สิ่งที่ฝรั่งเศสรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวคือ สยาม ซึ่งเข้าไปมีอิทธิพลต่อพื้นที่ต่างๆ ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 116 หรือปี 1896 ในวิกฤตการณ์ปากน้ำ เรือรบฝรั่งเศส 2 ลำแล่นผ่านแนวป้องกันของสยาม แต่โชคดีที่สยามยิงโดนเรือนำร่องของฝรั่งเศส แต่เรือรบ 2 ลำยิงไม่โดน ถ้ายิงเรือรบ 2 ลำจม ป่านนี้เราอาจได้พูดภาษาฝรั่งเศสกันทั้งประเทศ ถ้าท่านอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆ ในปี 1893 พูดได้เลยว่า สยามถ้าไม่เป็นของฝรั่งเศสก็ต้องเป็นของอังกฤษ

หลัง 1893 ตอนเราเรียน สปช.ไม่พูดอะไรเลย รู้แต่ว่าพอเราจ่ายสตางค์จนหมดท้องพระคลังกรณีพระยอดเมืองขวาง ฝรั่งเศสยอมถอยไปยึดจันทบุรี สุดท้ายก็ทำข้อตกลงพ่วงเรียกว่า อนุสัญญา 1904 แนวคิดสมัยใหม่ของความเป็นรัฐ มีความคิดชุดหนึ่งคือ รู้ว่าอำนาจอธิปไตยสิ้นสุดตรงไหน เรื่องเส้นเขตแดนเริ่มพูดในอนุสัญญา 1904 ต่อมาสยามต้องป้องกันตัวเอง เราไม่มีอาวุธ ผลจากวิกฤตการณ์ปากน้ำ ทำให้เรารู้ว่ารบยาวไม่ได้ ความหวังของสยามจบลงเพราะอังกฤษไม่ช่วย สยามต้องช่วยตัวเอง รัชกาลที่ 5 จึงตัดสินใจครั้งสำคัญว่า สยามต้องเป็นรัฐเหมือนยุโรป ต้องมีเส้นเขตแดน เพื่อว่าฝรั่งเศสรุกเข้ามาจะได้ยืนยันได้ว่าฝรั่งเศสรุกเข้ามาในดินแดนสยามแล้ว รัชกาลที่ 5 ตัดสินใจแลกแผ่นดินสยามกับฝรั่งเศส 3 แลก 3 แลกด่านซ้าย ตราด และส่วนในของเกาะกูด-แหลมสิงห์ กับมณฑลพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เมื่อตกลงแลกแล้วก็มีเรื่องใหญ่ตามมา ต้องปักปันเขตแดน นำไปสู่การตีพิมพ์แผนที่ซึ่งเป็นแผนที่แนบท้ายสัญญาปักปันปี 1907 ตีพิมพ์แผนที่ปี 1908 ที่ปารีส

ผมถามว่า ประเด็นที่หนึ่ง ตกลงท่านยอมรับไหมเรามีอนุสัญญา 3 ฉบับ กับ 1 แผนที่ปักปัน ในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านให้สัตยาบันข้อ 1 ของอนุสัญญาว่า ให้ใช้แนวสันปันน้ำ แต่ในข้อ 3 ระบุว่าให้ใช้คณะกรรมการร่วมในการตัดสิน “ผมเรียกการตัดสินใจเช่นนี้ว่าพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5” แต่เมื่อตกลงแล้วมันมีเรื่องใหญ่ตามมาก็คือ ต้องปักปันเขตแดน เพราะไม่รู้ว่าจุดสิ้นสุดอิทธิพลของสยามกับฝรั่งเศสอยู่ตรงไหน นั่นหมายความว่าหลัง ค.ศ. 1907 เราได้ปักปันเขตแดน และแผนที่ดังกล่าวตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1908 ที่ปารีส ผมเปิดประเด็นพื้นฐานให้ท่านเห็นว่ากรณีเขตแดนไทย-กัมพูชา ประกอบด้วย 3 สัญญา/อนุสัญญา และ 1 แผนที่ ท่านรับหรือไม่ แต่ในหลวงของเราได้ให้สัตยาบันต่อสัญญาและอนุสัญญาทั้งสามฉบับ และเมื่อให้สัตยาบันแล้วปัญหาอยู่ในอนุสัญญา ค.ศ. 1904 ให้ใช้สันปันน้ำ แต่ในปี ค.ศ. 1908 ให้ใช้เส้นเขตแดนที่คณะกรรมการขีดเส้น

ประเด็นที่ 2 ถ้าเราไม่ยอมรับว่าการปักปันเกิดขึ้นจริง และเชื่อว่าเป็นการดำเนินการอย่างเป็นเอกเทศของเจ้าหน้าที่ของฝรั่งเศส นั่นเป็นแต่เพียงความทรงจำที่ไม่ชัดเจน เรามักเรียกแผนที่นี้ว่าแผนที่แบนาร์ แต่ฝ่ายไทยมี พลเอก หม่อมชาติเดชอุดม ร่วมด้วย คือเป็นกรรมการผสม เพราะฉะนั้นข้อถกเถียงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ว่าการปักปันเป็นการดำเนินการโดยเอกเทศนั้นไม่จริง เพียงแต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเรียกว่าแผนที่แบนาร์ ทำไมไม่เรียกว่าแบร์นา-เดชอุดม หรือเดชอุดม-แบนาร์ เพื่อสร้างจินตรนาการที่ชัดเจนว่าการปักปันนั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการผสมของทั้งสองฝ่าย

ประเด็นที่ 3 รับหรือไม่รับแผนที่ นี่เป็นปัญหาใหญ่ เพราะแนวพรมแดนตั้งแต่ พ.ศ. 2496 นั้น แนวพรมแดนจากเหนือสุดถึงจังหวัดตราด เมื่อปักปันแล้วตัดออกเป็นส่วนๆ เป็น 11 ส่วนหรือ 11 ระวาง เมื่อแบ่งออกเป็น 11 ระวาง แผนที่ตีพิมพ์เสร็จปี ค.ศ. 1908 รัฐบาลสยามส่งสัญญาณขอให้ตีพิมพ์เพิ่มอีก 50 ชุด ในจำนวนนี้เก็บไว้ที่สถานทูตไทยที่ปารีส 2 ชุด จากนั้น เก็บไว้ที่สถานทูตไทยประจำกรุงลอนดอน และกรุงวอชิงตัน ส่งกลับกรุงเทพฯ 44 ชุด เพราะฉะนั้นคำขอโดยจดหมายของรัฐบาลไทยในเดือน เม.ย. 1908 ถือเป็นการยอมรับว่าสยามยอมรับการปักปันเขตแดนแล้ว ฉะนั้นเวลาที่ท่านได้ยินว่าไม่รับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 คือแผนที่ชุดนี้แหละ

ประเด็นที่ 4 เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว มีนักวิชาการอาวุโสบอกว่ารัฐบาลไทยรับแผนที่บางระวาง และไม่รับบางระวาง พูดต่อหน้าทีวี คำตอบคือเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้ารับจะต้องรับแนวเส้นเขตแดนทั้งแนว ฉะนั้นปัญหาตรงนี้ต้องยอมว่าเราจะเอายังไงเกี่ยวกับตัวเราเอง

ประเด็นที่ 5 มีคนพูดเรื่องเอกสารลับและแผนที่ลับ ความตกลงระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไม่ใช่ดาวินชีโค้ดนะครับ มันเป็นไปไม่ได้ ความตกลงนั้นทำโดยเปิดเผย ความตกลงลับมีไหม คำตอบคือมีแต่ไม่เกี่ยวกับการปักปันเขตแดน ทั้งหลายทั้งปวงกลับมาที่เดิม คือ 3 สัญญา/อนุสัญญาบวก 1 แผนที่

ประเด็นที่ 6 ฝรั่งเศสแพ้สงครามเดียนเบียนฟู ทำให้กัมพูชาได้เอกราช ผลพวงจากการก่อตั้งเอกราชของกัมพูชา ซึ่งบางพื้นที่กัมพูชามองว่าสยามได้ส่งตัวแทนเข้าไปครองครอง โดยปี พ.ศ. 2501-2502 ตกลงกันไม่ได้ก็จูงมือกันขึ้นศาลโลก ศาลตัดสินในวันที่ 15 มิ.ย. 05 โดยความเห็น 9 ต่อ 3 ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในเขตอธิปไตยกัมพูชา ยอมรับไหมว่าศาลโลกตัดสินแล้ว ถ้าไม่ยอม ตกลงคำตัดสินปี 05 คืออะร เมื่อไม่ยอมก็นำไปสู่ปัญหาข้อที่ 7

ประเด็นที่ 7 คนรุ่นใหม่ ไม่คุ้นกับเรื่องเขตแดน จนกระทั่ง 4 ก.ค. 2505 จอมพลสฤษดิ์ต้องออกมาพูดว่าไทยต้องยอมรับเพราะไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ ระยะห่างหลายเดือนเพราะอะไร ผมคิดว่าเพราะมีความพยามที่จะไม่รับมติศาลโลก เมื่อเรารับแล้ว เราต้องทำรายงานกลับไปที่ UNSC ว่ารัฐบาลที่กรุงเทพฯได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง เราดำเนินการ 1.ต้องชักธงไตรรงค์ลงจากหน้าผาที่เขาพระวิหาร 2.ต้องคืนโบราณวัตถุบ้าง 2-3 ชิ้น ตกลงมีพื้นที่รอบตัวปราสาทไหม ผมเรียนท่านก่อนว่า รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตัดสินใจชัดเจนว่าตัวปราสาทมีพื้นที่กำกับ ครม.ปี 2505 ลากเส้นกำกับตัวปราสาทเขาพระวิหาร เพราะเราต้องส่งรายงานกลับไปที่ UNSC วันนี้ถ้าเราไม่ทะเลาะกันอย่างนี้ เราก็เปิดแผนที่แล้วใช้มติ ครม.ปี 2505 แต่มันเกิดข้อโต้แย้งในคนรุ่นปัจจุบันที่สะพานมัฆวานฯ ว่ากัมพูชาได้แต่ตัวปราสาท แต่พื้นที่แม้แต่ใต้ตัวปราสาทก็เป็นของไทย แต่ท่านต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ขีดเส้นแล้ว

ประเด็นที่ 8 นักกฎหมายท่านหนึ่งอธิบายว่า กรณีปราสาทพระวิหารไม่ต่างกับกัมพูชาลืมโทรศัพท์มือถือไว้บนโต๊ะของไทย ผมเข้าใจว่าตีความแบบนี้ไม่ได้ เพราะมีความต่างระหว่างสังหาและอสังหาริมทรัพย์ และ ครม. ยุคจอมพลสฤษดิ์ได้ดำเนินการขีดเส้นไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คุณถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยนั้นได้สงวนสิทธิไว้ แต่คำตัดสินของศาลโลกถือเป็นการสิ้นสุดไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา แต่เปิดโอกาสให้มีการสงวนสิทธิ์ แต่ตามหลักกฎหมายมีการสงวนสิทธิ์ใดบ้างที่คงอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย โดยหลักแล้วต้องถือหลัก 10 ปี นั่นหมายความว่าการสงวนสิทธิ์ดำรงอยู่ตั้งแต่ปี 05-15 แต่ต้องใช้สิทธิที่สงวน แต่ถ้าไม่เคยใช้แปลว่าสละสิทธิ์ สองต้องมีหลัฐานใหม่ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล ดังนั้นผมคิดว่าต้องยอมรับว่าสิ้นสุดแล้ว เพราะเราไม่เคยแสดงหลักฐานใหม่ที่มีนัยยะต่อการเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของศาล

ประเด็นที่ 9 มีคนโต้แย้งว่า มณฑลบูรพาจนถึงปัจจุบันยังเป็นของไทย โดยข้อเท็จจริงสงคราม ไทย-ฝรั่งเศส เริ่มปี พ.ศ. 2483 กำลังรบของไทยรุกข้ามแดน มีการชัดธงที่ช่องจอม สุดท้ายญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ย เราไปยุติสงครามกันที่กรุงโตเกียว ผลของการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่นแล้วเราได้อนุสัญญาโตเกียว 2484 เราได้พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ถ้าไปอ่านหนังสือจะบอกว่า เราได้พระวิหารคืนมาแล้ว แต่ถามหน่อยว่าญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกไหม ถ้าญี่ปุ่นไม่แพ้ เราจะได้ภาคใต้เพิ่มด้วย ทางเหนือยังได้รัฐฉาน เชียงตุงด้วย แต่พอญี่ปุ่นแพ้ รัฐบาลที่กรุงเทพฯ คืนดินแดนทางใต้ให้อังกฤษทันที แต่ไม่คืน จำปาศักดิ์ เสียมราฐ ศรีโสภณ ถามว่า ถ้ารัฐบาลไทยช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองต้องการอะไร ต้องการเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ-ยูเอ็น ถ้าเราอยากเป็นสมาชิกยูเอ็นแล้วยึดครองดินแดนของฝรั่งเศสเขาไว้ เขาจะยอมให้เราเข้าหรือ สุดท้ายถอยกลับไปสูจุดเดิม ตั้งคณะกรรมการประนอม ในท้ายที่สุดเราทำอนุสัญญาวอชิงตันคืนให้ฝรั่งเศสทั้งหมด คำถามคือคืนพระวิหารให้หรือเปล่า

ประเด็นที่ 10 MOU 2543 เมื่อปัญหาผ่านมาทั้งหมด เราทำความตกลงที่เป็นบันทึกช่วยจำ หรือ เอ็มโอยู 43 ท่านไปอ่านเลย ว่าคือกรอบของการทำความตกลงงาถ้าในอนาคตประเทศไทยและกัมพูชามีปัญหาขอพิพาทเกิดขึ้น เอกสารที่ใช้ คืออนุสัญญา และสัญญา 3 ฉบับ ที่ผมเรียนท่านมาแต่ต้น มีเกินกว่านั้นไหม ไม่มี เพราะฉะนั้นถ้าท่านจะเลิกหรือไม่เลิก MOU 2543 หลักเหล่านี้หายไปไหม ก็ไม่หายไปไหน แต่ถ้าท่านจะเลิกเอ็มโอยู ท่านจะเลิกโดยที่รัฐภาคีไม่ยอมรับไม่ได้ เพราะในทางระหว่างประเทศเราจะเป็นรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือ

ประเด็นที่ 11 มีแผนที่ที่ถูกอ้างบ่อยมากคือแผนที่ 1 ต่อ 50,000 หรือ L7017 และ L7916 เป็นแผนที่ยุทธการไม่ใช่แผนที่เพื่อการปักปันเขตแดน โดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถนำมาใช้อ้างในความตกลงระหว่างประเทศ เพราะเป็นแผนที่สำหรับภารกิจทางทหาร ดังนั้นถ้าท่านตัดสินใจว่าจะไม่ยอมรับการปักปันแผนทีแบนาร์ แต่มายอมรับ L7017 แต่ท่านต้องตัดสินใจด้วยความระมัดระวังว่านี่ไม่ใช่แผนที่ที่ใช้ปักปัน และไม่เคยได้รับการให้สัตยาบันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น

ประเด็นที่ 12 ตกลงวันนี้พื้นที่ทับซ้อนคืออะไร ก็คือพื้นที่เขตแดน ตามที่คณะกรรมการปักปันได้ทำไว้ในปี ค.ศ. 1907 ถ้าถือเส้นเขตแดนตามคณะกรรมการปักปัน ค.ศ. 1904 เส้นเขตแดนอยู่ที่หน้าผาของพระวิหาร แต่ ค.ศ. 1907 ศาลโลกรับข้อสาม เพราะรัฐบาลที่กรุงเทพฯ รับแผนที่แล้ว ดังนั้นรอยเหลื่อมที่หน้าผาตามแนวสันปันน้ำ ส่วนต่างตรงนี้แหละคือพื้นที่ทับซ้อน นั่นหมายความว่าเราต้องทำใจพอสมควร เพราะในปีพ.ศ. 2505 กัมพูชาไม่ได้ฟ้องเส้นเขตแดน เพราะเราจะยุ่งกว่านี้ นั่นหมายความว่า ถ้าเรายอมให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนง่ายกว่า แต่วันนี้มันเป็นปัญหาการเมืองที่ใหญ่เกินไปแล้วล่ะ

ถ้า 12 ข้อทำใจรับไม่ได้เลย ก็มาสู่ข้อ 13 คือไปรบที่ภูมิซรอล คือไม่ยอมรับอะไรเลย ต้องกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ใหม่เลยนะ เพราะรัฐบาลแต่ละช่วงดำเนินการด้วยนความละมุนละม่อม เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาใหญ่จนรัฐบาลไทยถูกกำหนดจากปัจจัยภายนอกดังที่เคยเป็นมาแล้วเมื่อปี 2505”
กำลังโหลดความคิดเห็น