โฆษกม็อบ ยันรัฐไร้ความรับผิดชอบทำพันธมิตรฯ ต้องยกระดับมาไล่รัฐลาออก ปัดคนน้อยทำงดเคลื่อนขบวน ย้ำ พันธมิตรฯ ไม่ล้อมสภา ชี้ “ฮุนเซน” ขอทำสงครามเต็มรูปแบบ หวังดึงมหาอำนาจจุ้น หนุนรัฐเจรจาทวิภาคีเขมร ยกเลิกสนธิสัญญาที่เสียเปรียบ กดดันมาตรการทางเศรษฐกิจ แนะปรับยุทธวิธีในระดับเสนาธิการ
วันนี้ (10 ก.พ.) ที่สะพานมัฆวานฯ นายประพันธ์ คูณมี โฆษกการชุมนุมฯ กล่าวว่า ความจริงแล้วการชุมนุมครั้งนี้เราเล็งผลสำเร็จอยู่ที่เป้าหมาย 3 ข้อ ที่ให้รัฐบาลออกมาทำหน้าที่ปกป้องดินแดนอธิปไตย เราพยายามหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อพี่น้องที่ประกอบสัมมาอาชีพอย่างที่สุด และไม่ได้ต้องการที่จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจรัฐขับไล่รัฐบาลแต่อย่างใด แต่เหตุที่ต้องยกระดับข้อเรียกร้องดังกล่าวเนื่องจากรัฐบาลไม่มีความรับผิดชอบในการทำหน้าที่ดังที่เราได้ให้ข้อเท็จจริงในพฤติกรรมของรัฐบาลตลอดมา จนเป็นที่มาของฉันทามติให้นายกฯและรัฐมนตรีลาออกทั้งคณะ ดังนั้นตามที่สื่อบางสำนักพยายามออกข่าวว่ากระแสของพันธมิตรฯแผ่ว จนเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนไหวไม่ไปป่วนตรงนั้นตรงนี้ เป็นการเสนอข่าวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตามเราเคารพความเห็นของพี่น้องสื่อมวลชน แต่อยากให้เข้าใจว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯไม่ได้ต้องไปก่อความวุ่นวายหรือ ป่วนบ้านป่วนเมืองแต่อย่างใด และเชื่อว่าหากต้องการระดมมวลชนให้มากก็เชื่อว่ามีพี่น้องที่พร้อมเข้าร่วม เป็นจำนวนมากที่ได้เห็นตลอดช่วงสุดสัปดาห์
โฆษกการชุมนุมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนกรณีการขอพื้นที่คืน หรือสลายการชุมนุมนั้น ตนยืนยันว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯไปเป็นด้วยความสงบสันติ ไม่มีความพยายามก่อนความปั่นป่วนไปปิดล้อมรัฐสภาอย่างที่เกรงกัน เพราะเราต้องการเพียงการนำความจริงมาบอกประชาชน เพื่อให้รัฐบาลทำหน้าที่ ตราบใดที่ยังไม่ทำหน้าที่เราก็ยืนหยัดอยู่ตรงนี้ รวมทั้งหากกัมพูชายังยึดครองดินแดนไทยอยู่อย่างนี้ เราก็คงหยุดภารกิจนี้ไม่ได้
นายประพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการปะทะตามแนวชายแดนที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลนายฮุนเซน พยายามที่ก่อเหตุให้เป็นสงครามเต็มรูปแบบ จากทั้งที่แถลงต่อนายบัน คี มุน เลขาฯยูเอ็น และต่อกับสื่อมวลชนในกัทพูชา โดยเหตุที่นายฮุนเซน ต้องการเช่นนั้นเนื่องจากต้องการดึงให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซงข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเคยทำสำเร็จแล้วเมื่อครั้งการตัดสินของศาลโลกต่อกรณีปราสาทเขาพระวิหาร เมื่อปี 2505 โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจที่มีผลประโยชน์ในกัมพูชา ทั้งสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นการคานดุลอำนาจของประเทศจีนที่แผ่ขยายอยู่ในอาเซียน โดยใช้กัมพูชาและเวียดนาม เป็นฐาน เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศที่รัฐบาลควรเข้าใจ รัฐบาลไทยต้องยึดมั่นในการเจรจาระดับทวิภาคีกับกัมพูชาเท่านั้น โดยอ้างเหตุการปะทะที่กัมพูชารุกล้ำยึดครองดินแดนไทยและเป็นฝ่ายโจมตีก่อน เพื่อยกเลิกสนธิสัญญาที่ไทยเสียเปรียบหรือใช้กำลังผลักดันให้กัมพูชาออกจากอาณาเขตไทย เป็นสิทธิ์อันชอบธรรมที่รัฐบาลสามารถทำได้ รวมทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นสิ่งที่นายฮุนเซน กลัวมาก เพราะยุทโธปกรณ์ของกัมพูชาต้องใช้น้ำมันของไทยเป็นหลัก
“วันนี้กองทัพไทยเคลื่อนกำลังไปประชิดชายแดนนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่หากต้องการใช้การเจรจาในระดับทวิภาคีไม่จำเป็นต้องใช้กำลังมากขนาดนั้น เพราะศักยภาพของกองทัพไทยสูงกว่ากัมพูชามาก เกรงว่าจะทำให้ภาพกลายเป็นสงครามอย่างที่นายฮุนเซน ต้องการ ดังนั้น ยุทธวิธีในระดับเสนาธิการจำเป็นต้องปรับ” นายประพันธ์ กล่าว