แจงเหตุปะทะไทย-กัมพูชา บ้าน ปชช.เสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 10 หลัง เยียวยาหลังละ 30,000 บาท พร้อมเร่งสรุปความเสียหายจุดเสี่ยงที่ยังเข้าไม่ถึง ด้านเจ้าหน้าที่ระดมสรรพกำลังช่วยเหลือผู้เสียหายเบื้องต้นในด้านน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง และเครื่องยังชีพชั่วคราว
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวสรุปถึงสถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชาประจำวันที่ 8 ก.พ.ว่า หลังเกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดน จ.ศรีสะเกษ บริเวณภูมะเขือ ต.รุง และ ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.ถึงวันที่ 6 ก.พ. มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจำนวน 17 หลัง เสียหายทั้งหลัง 7 หลัง เสียหายบางส่วน 10 หลัง โดยเมื่อวันที่ 6 ก.พ. จ.ศรีสะเกษได้ให้ความช่วยเหลือบ้านที่เสียหายทั้งหลังตามระเบียบกระทรวงการคลัง หลังละ 30,000 บาท เป็นเงิน 210,000 บาท ส่วนที่เสียหายบางส่วนจะเร่งสำรวจเพื่อให้ความช่วยเหลือ และตั้งแต่เกิดเหตุได้อพยพประชาชนไปยังจุดรองรับผู้อพยพจำนวน 40 จุด แยกเป็น 11 อำเภอ รวม 16,668 คน ประภิกษุจำนวน 8 รูป
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือเบื้องต้น ปภ.ได้สั่งศูนย์ ปภ.เขต พื้นที่ใกล้เคียงสนับสนุนรถยนต์ผลิตน้ำดื่ม 2 คัน รถบรรทุกน้ำ 6,000 ลิตร จำนวน 3 คัน ถังน้ำ 2,000 ลิตร 7 ใบ รถไฟฟ้าส่องสว่าง 2 คัน รถบรรทุก 6 ล้อจำนวน 2 คัน รถบรรทุกเล็ก 4 คัน รถตู้ 2 คัน เต็นท์สนาม 5 คน 300 หลัง ถุงยังชีพ 2,000 ชุด มอบผ้าห่มกันหนาว 6,970 ผืน และการประปาส่วนภูมิภาคติดตั้งจุดรองรับผู้อพยพ ร่วมกับ อบต.ในพื้นที่ และสนับสนุนเครื่องกรองน้ำประปาดื่ม 2 แท่น พร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ ปภ.เขตใกล้เคียง 24 ราย เข้าสนับสนุนการปฏิบัติ ณ ที่ว่าการอ.กันทรลักษ์ และโรงเรียนบ้านท่าสว่าง ต.โนนสำราญตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.เป็นต้นมา โดยขึ้นการบังคับบัญชาจากผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ
นายวิบูลย์กล่าวอีกว่า สำหรับการช่วยเหลือประชาชน ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยกรณีฉุกเฉินได้ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย แบ่งเป็น กรณีเสียชีวิต ช่วยเหลือเป็นค่าจัดการศพรายละ 25,000 บาท หากเป็นหัวหน้าครอบครัวจะได้รับเพิ่มเติมอีกรายละ 25,000 บาท รวมเป็น 50,000 บาท เครื่องมือประกอบอาชีพช่วยเหลือครอบครัวละไม่เกิน 10,000 บาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การช่วยเหลือผู้อพยพครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่ยังมีบ้านที่เสียหายบางส่วนที่เจ้าหน้าที่ยังเข้าไปสำรวจไม่ครบเนื่องจากบ้างพื้นที่อยู่ในจุดเสี่ยง แต่จะเร่งสำรวจเพื่อช่วยเหลือให้เร็วที่สุด แต่ที่ตนห่วงผู้อพยพคือเรื่องของยุง และสภาพจิตใจของประชาชนที่อยากจะกลับบ้านให้เร็วที่สุด เพราะห่วงบ้านและทรัพย์สิน