xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.กสม.แนะลดใช้ กม.พิเศษดับไฟใต้ - “เอกชัย” ชู สันติธานีโมเดล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วุฒิสภา จัดเสวนาสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพชายแดนใต้ ประธาน กก.สิทธิณ ชี้ ไฟใต้เกิดจาก 3 เงื่อนไข แนะรัฐลดการใช้กฏหมายพิเศษ ให้ประชาชนมีส่วนร่วม ด้านผู้ประสานงานฮิวแมนไรช์วอตช์ ชี้รัฐเยียวยาเหมือนเอาพลาสเตอร์แปะแผล ฉะไม่สนใจแก้ปัญหาชาวมลายู ขณะที่อธิบดีกรมคุมประพฤติ แนะข้าราชการพื้นที่เปลี่ยนวิธีคิด ส่วน ผ.อ.สันติวิธี ยกสันติธานีโมเดล แทนนครรัฐปัตตานี

วันนี้ (1 ก.พ.) ที่รัฐสภา มีการเสวนาเรื่อง “เหลียวหลังแลหน้าสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ ในชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรง” จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โดย นางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษ ว่า สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเห็นว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้เกิดจาก 3 เงื่อนไข คือ 1.เงื่อนไข เชิงบุคคล คือ การใช้อำนาจทางการปกครองเกินขอบเขต การใช้ความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบ การตอบโต้ของฝ่ายรัฐด้วยความรุนแรง 2. เงื่อนไขโครงสร้าง คือ ความไม่เป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม เศรษฐกิจที่ไม่เข้มแข็ง และ 3.เงื่อนไขวัฒนธรรม คือลักษณะเฉพาะของศาสนาและชาติพันธุ์

นางอมรา กล่าวอีกว่า ความรุนแรงที่ยืดเยื้อและยาวนานมีสาเหตุมาจากสาเหตุทางประวัติศาสตร์ ความแตกต่างทางศาสนา ชาติพันธุ์ การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากอคติ นโยบายบริหารประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นการกระทำขององค์กรและตัวบุคคล จนเกิดปัญหามาเป็นเวลานานและกลายเป็นความไม่พอใจจึงแสดงออกด้วยความรุนแรง มีการเรียกร้องความยุติธรรมในรูปแบบต่างๆเพื่อให้ได้รับการยอมรับ ซึ่งความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังเห็นว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่งานในพื้นที่ภาคใต้ยังปฏิบัติด้วยอคติและความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน โดยยึดหลัดความมั่นคงของรัฐสูงสุดจึงมีการละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทำให้ผู้ถูกละเมิดโกรธแค้นและลุกขึ้นมาต่อสู้ ซึ่งรัฐควรลดมิติด้านความมั่นคง และลดการใช้กฎหมายพิเศษลงเพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนลง ควรลดบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐจากการเป็นผู้สั่งการให้เป็นผู้สนับสนุนให้ประชาชน มีส่วนร่วมมากขึ้น รวมถึงต้องเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย ทั้งนี้ เห็นว่า การแก้ไขปัญหาของพื้นที่ภาคใต้ในระยะยาวคือการแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยให้หน่วยงานผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาและให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเสนอแนะความคิดเห็น

ขณะที่ นายสุณัย ผาสุข นักวิชาการอิสระและผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันไม่มีรัฐบาลไหนที่ไม่พยายามเอาผิดกับบุคคลที่แบ่งแยกดินแดน และจะเห็นว่าขณะนี้การยกระดับความรุนแรงและยั่วยุมีมากขึ้น และการเยียวยาที่เกิดขึ้นทำได้เพียงแค่การให้เงิน ซึ่งหมายถึงการนำพลาสเตอร์ยาไปปิดแผลไว้เท่านั้น แต่แผลก็ยังลุกลาม นอกจากนี้ การบังคับใช้กฎหมายยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ให้คนที่ทำผิดไม่ต้องรับโทษ ดังนั้นการปราบเท่าไหร่ก็ไม่จบเพราะทั้งหมดเกิดจากความคับแค้นใจ ดังนั้นรัฐต้องมีความจริงใจในการเจรจาด้วย เพราะกระบวนการเจรจาเจอแต่ทางตันเพราะฝ่ายรัฐก็มีกำแพงกั้นอยู่ด้วย การที่ฝ่ายรัฐไม่ดูแลชาวไทย-มลายูทำให้เกิดปัญหา และกลายเป็นเรื่องใหญ่ น่าเสียใจที่คนที่เป็นผู้นำกองทัพกลับออกมาพูดว่าการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ เดินมาถูกทางแล้ว แล้วบอกว่าใครขวางอย่าไปสนใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง

ดร.ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า สิทธิมนุษยชนของไทยมีปัญหาถึงทำให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้นในภาคใต้ เพราะภาคใต้ยังถูกกระตุ้นด้วยความเกลียดชัง และความหวาดกลัว ดังนั้นสิทธิมนุษยชนกับสิทธเสรีภาพจึงเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของการเลือกปฏิบัติ ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่าการทำงานตามหลักกฎหมายต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ดังนั้นหากต้องการแก้ไขปัญหา จะต้องเชื่อมโยงกันทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยต้องใช้ชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ต้องไม่คิดแต่เรื่องสู้รบ แต่ต้องให้ทุกฝ่ายรับรู้และยกระดับให้เป็นปัญหาระดับชาติ ระดับประเทศและระดับโลก จะพูดว่าเป็นปัญหาเฉพาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้คงไม่ได้ ดังนั้น สิทธิมนุษยชนถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญ

ดร.ชาญเชาวน์ กล่าวว่า วันนี้ ถามว่า ข้าราชการที่อยู่ในชายแดนภาคใต้ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงเขาเข้าใจปัญหาตรงนี้หรือไม่ ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องเปลี่ยนวิธีคิด เรื่องสิทธิมนุษยชนต้องกลายเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ละเลยไม่ได้ ส่วนเรื่องเยียวยานั้นต้องทำให้ครอบคลุม ไม่ใช่เยียวยาเฉพาะกลุ่ม แต่ต้องเยียวยาคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดด้วย และการเยียวยาก็ไม่ใช่การล้างสมอง นอกจากนั้นต้องเยียวยาคนทั้งประเทศให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย ส่วนวิธีการเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน คือ ต้องยอมรับชาวไทย-มลายู ต้องเอาเนื้อหารัฐธรรมนูญที่มีอยู่มาสร้างเป็นโครงการกิจกรรมไม่ชี้ถูกชี้ ผิด หลายเวีทีพูดว่าปัญหาของชายแดนภาคใต้เป็นการผลิตซ้ำทางความคิด ซึ่งตรงนี้มันสามารถผลิตซ้ำได้ แต่เราต้องแก้ไขและทำอย่างไรให้เขาเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ที่บอกว่าต้องใช้การเมืองนำการทหารในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ใช่ว่าให้ทหารออกไปแล้วให้การเมืองนำ แต่ความหมายคือให้ทหารเข้าไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับความปลอดภัย ก็ควรเข้าไปช่วยเข้าไปเปิดพื้นที่ให้เพื่อให้หน่วยงานต่างๆได้เข้าไปช่วย เหลือประชาชน สิ่งที่ชาวไทยมลายูคิดขณะนี้คือเรื่องสองมาตรฐานความไม่เท่าเทียมกัน อย่างเรื่องการตั้งนครปัตตานีห้ามพูด เพราะพูดแล้วจะกลายเป็นการแบ่งแยกดินแดน แต่กลับพูดเรื่องตั้งนครแม่สอดได้ หากไปดูตามชายแดนแม่สอดจะเห็นว่ามีภาษาพม่าอยู่ทุกมุมบ้านมุมเมือง หรือทางชายแดนกัมพูชาก็มีภาษาเขมร แต่ทำไมชายแดนภาคใต้ ถึงมีภาษามลายูไม่ได้นี่แหละที่เขาเรียกว่าความไม่เป็นธรรม

พล.อ.เอกชัย กล่าวต่อว่า เรื่องเอกภาพในการปกครองของรัฐเอง วันนี้ก็ไม่มีเอกภาพทำงานในพื้นที่ก็ทำแบบต่างคนต่างทำ ปัญหาแย่งชิงงบประมาณก็เกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ จึงมีการตั้งคำถามของคนในพื้นที่ตลอดว่าทำไมต้องเฉพาะคนภาคใต้ หรืออย่างเรื่องน้ำมัน สินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่ราคาแพงกว่าจังหวัดอื่นในประเทศ ก็ต้องถามว่าใครเป็นคนจัดระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้กับพวกเขา ถามว่าหลายๆ สิ่งมีอยู่ แม้จะลดไปบ้างแต่อย่างเรื่องการเลือกปฏิบัติก็ยังมีอยู่ ตนคิดว่า วันนี้ต้องฟังเสียงของพวกเขา ต้องเปิดพื้นที่ในการรับฟัง ตนเคยเสนอตั้งนครปัตตานีแต่ก็ถูกต่อต้าน วันนี้ตนก็จะเสนอใหม่ตั้งเป็น “สันติธานีโมเดล” เอากีฬา เอากิจกรรมต่างๆ ลงไป เพื่อให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้เลือกปฏิบัติ
กำลังโหลดความคิดเห็น