ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ วิเคราะห์คลิป 7 คนไทยสำรวจพื้นที่ก่อนถูกจับ อ้างแหล่งข่าวจากนายทหาร-ผู้สื่อข่าวอาวุโส ชี้ “บ้านหนองจาน” จุดที่ทหารกัมพูชาจับกุมเป็นดินแดนไทย แต่ถูกเขมรยึดหลัง UNHCR ขอใช้พื้นที่ทำค่ายผู้ลี้ภัย จวก “กษิต” บิดเบือนแผนที่เอื้อประโยชน์เขมร ถาม “ใครย้ายหลักเขต?” แฉตามตะเข็บชายแดนเขมร มีสภาพ No man's Land แหล่งทำเงินผิดกฎหมาย ขนของหนีภาษี-ค้ามนุษย์ ลามไปถึงตะเข็บชายแดนด้านจันทบุรี-ตราด เตรียมลากเส้นเขตแดนให้เหมืองพลอยอยู่ในกัมพูชา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ (15thmove.net) ซึ่งจัดทำโดยนักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่จับตาดูสถานการณ์ กรณีปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ได้ตีพิมพ์บทความในหัวข้อ “คลิป ๗ คนไทยบอกอะไร-อะไรในโนนหมากมุ่น?” ตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ (4 ม.ค.) ที่ผ่านมา ขณะนี้ได้ตีพิมพ์เป็นตอนที่ 3
สำหรับบทความใน ตอนแรก เป็นการวิเคราะห์ถึงคลิปวิดีโอการเดินสำรวจพื้นที่ของ นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์, นายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน และเรือตรีแซมดิน เลิศบุตร คนใกล้ชิด พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก่อนถูกทหารของทางการกัมพูชาจับกุมตัวไป ซึ่งคลิปวิดีโอดังกล่าวแพร่กระจายในอินเทอร์เน็ตและถูกนำเสนอผ่านโทรทัศน์หลายช่อง มีทัศนะไปในทางลบ และบุคคลในรัฐบาลให้สัมภาษณ์ในทำนองไม่เป็นคุณต่อคนไทยที่ถูกจับกุม แต่หากได้พิจารณาคำพูดของนายพนิชและนายวีระไปพร้อมกับเส้นทางเดิน ได้บอกความจริงที่ซุกซ่อนให้คนไทยทั้งชาติได้รับรู้
บทความในเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ วิเคราะห์ว่า บริเวณหลักเขตที่ 44-48 เมื่อตรวจสอบคลิปโดยละเอียดและวาดแผนที่คร่าวๆ ที่มีความเป็นได้ว่าเป็นเส้นทางเดินของคนไทยทั้ง ๗ โดยทั้งหมดเริ่มต้นจากบริเวณจุดใดจุดหนึ่งของถนนศรีเพ็ญ จุดที่ 1 ผ่านทุ่งนาระยะทางประมาณ 200 เมตร มายังจุดที่ 2 ซึ่งพบกับแนวรั้ว แล้วเดินข้ามแนวลาดหนามมาถึงบริเวณแปลงมันที่จุด 3 แล้วตรงไปยังถนนดินในจุดที่ 4 จากจุดที่ 2 ไปยังจุดที่ 4 เป็นระยะทางประมาณ 400 เมตร จากจุดที่ 4 นี้คณะเดินต่อไปอีกประมาณ 150-200 เมตร เข้าไปยังเขตบ้านหนองจาน และพูดคุยกับทหารกัมพูชาในบริเวณใกล้เคียงจุดที่ 5 เส้นทางเดินทั้งหมดโดยประมาณอยู่ที่ 750-800 เมตร
ภาพจากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ
ในเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ระบุว่า แม้ไม่ทราบตัวบุคคลที่ปล่อยคลิปชุดดังกล่าว และอาจมองว่ามีเจตนาที่ไม่ดีนัก ประกอบกับการตัดต่อเพื่อให้กระชับทำให้เนื้อหาบางส่วนที่อาจสำคัญขาดหายไป แต่เราได้เห็นข้อเท็จจริงบางประการ คือ จุดเริ่มต้นของคลิปพูดถึงแนวรั้ว ซึ่งอยู่ในแนวต้นไม้ในผืนนาห่างจากถนนศรีเพ็ญ แนวนี้เป็นแนวอ้างเขตของกัมพูชาว่าเลยจากแนวรั้วนี้เข้าไปเป็นพื้นที่ของกัมพูชา เป็นเขตหมู่บ้านโจ็กเจ็ย (โชคชัย) ที่กัมพูชาเรียกขาน และเป็นแนวหลักเขตที่ 46-47 ที่ถูกเคลื่อนย้ายเข้ามา
• ชี้ “บ้านหนองจาน” UNHCR ขอใช้พื้นที่ ก่อนเขมรโมเมยึดเป็นของตัวเอง
ข้อมูลจากการสืบค้นประวัติพื้นที่ จากนายทหารและผู้สื่อข่าวอาวุโสซึ่งเคยทำงานและคุ้นเคยกับพื้นที่มาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2520 ระบุว่าพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าวเรียกว่าชมรมบ้านหนองจาน ในระหว่างสงครามกลางเมืองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มีคนเขมรอพยพหนีภัยเป็นจำนวนมาก ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ได้ร้องขอเพื่อขอใช้พื้นที่ในประเทศไทยประมาณ 2,000 ไร่ ก่อนแนวหลักเขตที่ 46-47 สำหรับเป็นค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งไทยได้ทำรั้วกันพื้นที่ให้มีความชัดไม่ให้มีการผ่านเข้าออก
หลังสิ้นสงครามกลางเมืองชาวกัมพูชาส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนา ขณะที่บางส่วนปักหลักในพื้นที่ ภายหลังมีการย้ายแนวหลักเขตที่ 46, 47 และอื่น ๆ มาอยู่ที่แนวรั้ว กัมพูชาได้ยึดครองโดยยกอ้างแผนที่ 1 ต่อ 200,000 จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อข้ามแนวรั้วแล้วจึงหมายถึงข้ามเข้าไปในเขตกัมพูชาที่มายึดครองในภายหลัง และเป็นที่มาของคำพูดนายวีระ ที่ระบุว่า “เดี๋ยวเราเดินไปเราโดนจับแน่”
ต่อมา เมื่อผ่านแนวรั้ว เดินในที่นาระหว่างจุดที่ 2 และ 3 คณะเห็นว่ามี ตชด. ตามมาด้านหลังและเห็นทหารกัมพูชาในทิศที่กำลังมุ่งไป จึงมีการพูดถึงทหารกัมพูชาว่า “มาเป็นแถวเลย” ระหว่างการเดินระหว่างจุดที่ 3 และ 4 นายวีระพูดถึงการถูกจับกุมคราวก่อนหน้าซึ่งมี ตชด. เข้ามาช่วยเหลือ “ตชด. พันตำรวจโทสวัสดิ์ ที่มาช่วยผมก็ยังพูดยืนยันอยู่ว่านี่เป็นแผ่นดินไทย” ยืนยันว่าพื้นที่หลังแนวรั้วดังกล่าวเป็นแผ่นดินไทยไม่ใช่ของกัมพูชา
นอกจากนี้ ระหว่างทางเลี้ยวในจุดที่ 4 และเดินต่อไปตามถนนดินไปยังจุดที่ 5 นายพนิชโทรหาคนรถที่ชื่อคิวให้ติดต่อไปยัง นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “บอกสมเกียรติ เลขาฯ ท่านนายกหน่อยนะ เดี๋ยวเราจะคุยกับนายกฯ เอง แต่ไม่เป็นไร บอกกับสมเกียรติหน่อยว่าเราข้ามเข้ามาที่เขตกัมพูชา เดี๋ยวถ้าเกิดมีอะไรจะได้ประสานเข้าไปใหม่ บอกเขาหน่อย เพราะว่าเราผ่านเข้ามาในพื้นที่กัมพูชาแล้ว แต่อย่าให้ใครรู้นะเพราะมีนายกฯ รู้อยู่คนเดียว … เงียบๆ ไว้เผื่อมีอะไรจะประสานเข้าไป บอกว่าเราข้ามเข้ามาแล้ว พยายามจะมาที่หมุด 46 ซึ่งมันเป็นฝั่งไทยนี่แหละ แต่เป็นพื้นที่ที่กัมพูชาเขายึด”
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ระบุว่า คำพูดนี้มีความสำคัญและถูกนำผูกโยงว่าคนไทยทั้ง 7 ข้ามเข้าไปยังเขตกัมพูชา ซึ่งหากพิจารณาคำพูดของนายพนิชจะพบว่า คณะทั้งหมดกำลังเดินทางไปยังหลักหมุดที่ 46 และยังอยู่ในเขตประเทศไทย ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว บนถนนดินที่ขุดดินจากนาขึ้นมาถมเป็นแนวถนนและคูนั้นยังเป็นเขตไทยแต่กัมพูชาเข้ามายึดครอง ไม่ใช่เขตกัมพูชามาแต่เดิม อีกทั้งคณะรับรู้ความเสี่ยงว่าเขามายังเขตที่กัมพูชายึดครองแต่ยังมุ่งหน้าเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงและยินดีให้ถูกจับ
• พบบ้านหนองจาน “ดิวตี้ฟรี-คนมีสี” มีเอี่ยวใช้เป็นทางผ่านขนของหนีภาษี
ในบทความกล่าวถึงคำพูดของนายวีระ ระหว่างที่คณะเดินสำรวจพื้นที่จากจุดที่ 3 ไปยังจุดที่ 4 ว่าของผมครั้งที่หนึ่งของผมครั้งแรก แซว ตชด. ว่าเขาคงเบื่อที่พวกนี้มาให้ถูกจับอีก และระหว่างทางก่อนถึงจุดที่ 5 ที่มุ่งเข้าบ้านหนองจาน นายวีระพูดว่า “ตอนนี้ยังไม่มีใครมาจับเรา เราจะเดินไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะมาจับเรา” ซึ่งเห็นว่าเป็นการสะท้อนความตั้งใจที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าพื้นที่ของไทยดังกล่าวถูกกัมพูชายึดครองจริง แม้บางฝ่ายจะมองว่าเป็นการหาเรื่องก็ตาม
ขณะเดียวกัน ยังมองว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะเป็นผู้รับรู้ตั้งแต่ต้น และเป็นคนส่งนายพนิชลงพื้นที่ตามที่ระบุว่ารู้กันสองคน ควรแสดงความรับผิดชอบให้สมกับฐานะผู้นำประเทศ ควรใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดกดดันกัมพูชาเพื่อให้คืนคนไทยทั้ง 7 กลับมาโดยเร็วที่สุด มากกว่าที่จะใช้ความเหยาะแหยะทางการทูตแก้ปัญหา และมีคำถามต่อเนื่องอันเกี่ยวข้องกับพื้นที่เกิดเหตุว่า เหตุใดทางการไทยโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงจึงปล่อยให้กัมพูชาเข้ามายึดครอง เบื้องต้นอาจมีข้ออ้างถึงความไม่รู้ในประวัติศาสตร์พื้นที่ เพราะเหตุดั้งเดิมเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปี ที่แล้ว แต่เป็นสิ่งที่อธิบายให้สังคมเชื่อตามยาก เนื่องจากแต่ละหน่วยที่รับผิดชอบพื้นที่นั้นมีข้อมูลที่ค่อนข้างครบถ้วน
นอกจากนี้ ในบทความยังมีการเปิดเผยถึงอดีตนายทหารระดับชั้นยศสูงสุดของกองทัพบกซึ่งมีความเชี่ยวชาญและคลุกคลีกับพื้นที่ได้ยืนยันกับเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟว่า บ้านหนองจานเป็นเขตทำมาหากินของนายทหารที่รับผิดชอบพื้นที่ตะวันออก เป็นทางผ่านในการขนสินค้าหลบเลี่ยงภาษีจากกัมพูชาเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นสินค้าของแท้จากประเทศสิงคโปร์ ขณะที่ผู้สื่อข่าวอาวุโสคลุกคลีกับพื้นที่ตั้งแต่ประมาณปี 2520 ให้ข้อมูลที่ตรงกันว่ามีบริษัทร้านค้าปลอดภาษีรายใหญ่ในไทย และมีนายทหารบางคนซึ่งอดีตรับผิดชอบพื้นที่บริเวณนั้นโดยตรงมีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ การคงความสับสนเรื่องเขตแดนและสภาพความไม่มั่นคงในพื้นที่ ทำให้เอื้อประโยชน์ในการปกปิดและขนถ่ายสินค้าหนีภาษี การทำมาหากินกับบ่อนการพนันในกัมพูชา และอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งการปล่อยให้มีการย้ายหลักเขต และปล่อยให้กัมพูชายึดครองพื้นที่ ล้วนเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องแต่ละราย ขณะที่เจ้าหน้าที่ทั้งกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และกรมแผนที่ทหาร ล้วนแต่ปกปิดอำพรางข้อเท็จจริง นักการเมืองระดับนโยบายก็ไม่ได้ให้ข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาอย่างถูกต้องโดยยึดประโยชน์ชาติเป็นที่ตั้ง
• จวกแผนผังฉบับ “กษิต” บิดเบือน “บ้านหนองจาน” ชี้สระน้ำยูเอ็นถือเป็นดินแดนของไทย
บทความใน ตอนที่ 2กล่าวถึงการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า 7 คนไทยถูกจับกุมในเขตไทย ขณะที่การปล่อยคลิปวิดีโอทั้ง 3 ตอนจาก 2 ชื่อผู้ใช้ในเว็บไซต์ยูทูปนั้น เป็นการเมืองสองฝ่ายภายในกระทรวงการต่างประเทศ คลิปดังกล่าวมาจากคณะที่เดินทางเยือนกัมพูชา เป็นคลิปที่ถ่ายโดยนายตายแน่ มุ่งมาจน ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ FMTV
ภาพจากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ : แผนที่ฉบับปรับปรุงเพิ่มรายละเอียดตามแผนผังของนายกษิต ระบุเส้นเขตแดน ตำแหน่งถูกจับกุม และสระน้ำยูเอ็น
ภาพจากเว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ : แผนผังที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ใช้ในรายการคุยนอกทำเนียบ ทางช่อง 11 ระบุจุดที่ถูกจับกุมและแนวขีดเส้นตรงหลัก (เขตแดน)
ขณะเดียวกัน ยังมองว่ารัฐบาลมีข้อมูลไม่ตรงกัน กรณีที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงในรายการคุยนอกทำเนียบ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) ในทิศทางตรงข้าม โดยเปิดเผยแผนผังจากข้อมูลที่ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชาและการส่งเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ กรมแผนที่ทหาร ลงพื้นที่บ้านหนองจาน ระบุว่าว่าคนไทยล่วงล้ำเขตแดนกัมพูชาเป็นระยะทางโดยประมาณ 55 เมตร
เมื่อพิจารณาตำแหน่งเทียบเคียงกับแผนผังของนายกษิต ซึ่งในเบื้องต้นที่ถ้าสมมติว่าถูกต้อง หากรวมเส้นทางเดินทั้งหมดจากถนนศรีเพ็ญ จนถึงจุดที่คาดว่าถูกจับกุม คิดเป็นระยะทาง 1,100-1,150 เมตร คำให้การของนายกษิตพร้อมแสดงแผนผัง ทำให้สรุปข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ว่า ไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญว่าคนไทยทั้ง 7 ถูกจับกุม ณ จุดใดบนถนนดินในหมู่บ้านหนองจาน (โจ็กเจ็ย) อีก
ทั้งนี้ เพราะหากยึดตามเส้นประสีดำในแผนที่ที่นายกษิตระบุว่าคือ “แนวเส้นตรงระหว่างหลัก (เขต)” ใช้เป็นแนวอ้างอิงเขตแดนคร่าวๆ ที่เข้าใจตรงกันของสองประเทศ ตามหลักคิดของภาครัฐ พื้นที่เกือบทั้งหมดของบ้านหนองจานเป็นของกัมพูชา เหตุใดและตั้งแต่เมื่อไรที่พื้นที่เกือบทั้งหมดของบ้านหนองจานตั้งอยู่ในฝั่งกัมพูชา และเป็นของกัมพูชาตั้งแต่เมื่อใด เพราะพื้นที่บ้านหนองจานหรือที่กัมพูชาเรียกโชคชัยนั้น เดิมเป็นค่ายอพยพที่ยูเอ็นมาขอใช้พื้นที่ประเทศไทย โดยหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เด่นชัด คือสระน้ำของ UNHCR ท้ายหมู่บ้านหนองจาน
ในบทความกล่าวถึงอดีตนายทหารอาวุโสระดับสูงแห่งกองทัพบกซึ่งได้ให้ข้อมูลค่ายอพยพบ้านหนองจาน ยืนยันว่า สระน้ำดังกล่าวเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ที่ UNHCR ขุดไว้เพื่อให้ผู้อพยพชาวกัมพูชาใช้ระหว่างพักพิงในค่ายอพยพ ซึ่งหลักการจัดหาพื้นที่สำหรับใช้เป็นค่ายผู้อพยพ จะไม่ใช้พื้นที่ของประเทศที่มีสงครามหรือเป็นคู่สงครามต้องใช้พื้นที่ ซึ่งอยู่ภายใต้อธิปไตยของประเทศที่สาม ซึ่งในกรณีนี้คือพื้นที่ของประเทศไทยเพื่อให้พ้นอำนาจทางปกครองและทางทหารของกัมพูชา ดังนั้นพื้นที่หมู่บ้านหนองจานทั้งหมดจากถนนถึงสระน้ำท้ายหมู่บ้านจึงตั้งอยู่ในเขตแดนของประเทศไทยและเป็นของไทยโดยไม่มีข้อโต้แย้ง
นอกจากนี้ มีคำถามถึงภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงอีกว่า หากไทยยึดแนวเส้นสีชมพู เป็นแนวเส้นแบ่งระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำไมเหนือเส้นนั้นขึ้นไปจึงปล่อยให้มีการตั้งบ้านเรือนชาวกัมพูชา ปล่อยให้ทหารกัมพูชาควบคุมพื้นที่ และมีป้อมด่านของทหารกัมพูชาตั้งอยู่ถัดเข้ามาในถนนดินทางเข้าหมู่บ้านหนองจาน ทางเข้าจากสี่แยกที่ถนนศรีเพ็ญ ทั้งที่อยู่ในเขตไทย
• ถาม “กษิต” ใครย้ายหลักเขต-ชี้เสียดินแดนแล้วโดยพฤตินัย
นายกษิตกล่าวในรายการ คุยนอกทำเนียบตอนหนึ่งเรียกเส้นเขตแดนว่า “เส้นตรงระหว่างหลัก (เขต)” เป็นเส้นที่ใช้อ้างอิงเขตที่เข้าใจกันทั่วไป ไม่ใช่เส้นเขตแดน และระบุต่อว่าการปักปันเขตแดนอยู่ระหว่างการดำเนินการตาม MOU43 และการทำงานของ JBC ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งในบทความมองว่า เป็นความพยายามของนักการเมืองที่อวดอ้างถึงประโยชน์ของ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ไทย-กัมพูชา ปี 2543 หรือ MOU43 ชี้ชวนให้ประชาชนคล้อยตามว่าด้วยบรรดาเหตุเหล่านี้จึงไม่อาจยกเลิก MOU43 ได้
แต่ในทางกลับกัน การหยิบยก MOU43 และระบุถึงการปักปันเขตแดนที่ไม่แล้วเสร็จ สะท้อนให้เห็นถึงความบกพร่องของกระทรวงการต่างประเทศว่า การปักปันเขตแดนในแถบที่ที่ราบจำนวน 73 หลักเขตนั้น แล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1907 ตามสนธิสัญญาแลกเปลี่ยนดินแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสอดีตเจ้าอาณานิคมของกัมพูชา ที่แลกเปลี่ยนดินแดนภาคตะวันออกอันได้แก่จันทบุรี ตราด กับพระตะบอง ศรีโสภณ เสียมราฐ เมื่อ 103 ปีก่อน
ทั้งนี้ ใน “สนธิสัญญาระหว่างสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ.1907)” กับ “พิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม รัตนโกสินทรศก 125 (ค.ศ.1907)” กำหนดให้เส้นตรงระหว่างหลักเขตหนึ่งไปยังอีกหลักเขตหนึ่งเป็น “เส้นเขตแดน” ไม่ใช่เส้นอ้างอิงชั่วคราวตามที่นายกษิตกล่าว ซึ่งจากตำแหน่งของหลักเขตที่ 46 ที่นายกษิตระบุว่าเป็นตำแหน่งปัจจุบัน กับ 47 มีอยู่ว่าทำไมเส้นตรงที่นายกษิตเรียกจึงคร่อมหมู่บ้าน แทนที่จะโอบทั้งหมู่บ้านเข้าอยู่ในเขตไทย เพราะหมู่บ้านดังกล่าวเป็นที่ตั้งเดิมของค่ายผู้อพยพที่ตั้งอยู่ในแผ่นดินไทย ในบทความได้ตั้งคำถามว่าใครย้ายหลักเขต
ในบทความดังกล่าวได้กล่าวโดยสรุปว่า จากข้อสรุปและคำถาม หรือแม้แต่ตำแหน่งที่ถูกจับกุมจะลึกเข้าไปอีก 350 เมตร หรือกี่เมตรก็ตาม ทั้ง 7 คนได้เปิดให้เราได้เห็นแล้วว่าประเทศไทยได้เสียดินแดนให้กับกัมพูชาไปแล้วโดยพฤตินัย และจะถูกรับรองทางนิตินัยด้วย MOU43 และ JBC หลักเขตอาจถูกเคลื่อนย้ายได้ แต่หลักฐานต่าง ๆ และความจริงเชิงประจักษ์อื่นไม่เคยโกหกใคร
• “No man’s Land” แหล่งทำเงินผิดกฎหมาย
บทความใน ตอนที่สาม กล่าวถึงประโยคที่ว่า “No man’s Land” จากคำพูดของนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งหมายถึงพรมแดนระหว่างสองประเทศ หรือสองกองทัพที่ยังไม่มีผู้ครอบครอง
ในบทความได้อ้างถึงอดีตนายทหารอาวุโสแห่งกองทัพบกซึ่งเคยปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทัพภาคที่ 4 ร่วมกับพลเอกหาญ ลีลานนท์ โดยหยิบยกกรณีที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เขตรอยต่อประเทศมาเลเซีย ระบุว่าที่ผ่านมามีปัญหาอ้างสิทธิ์เขตแดนซึ่งที่สุดนำไปสู่การตกลงให้เป็นเขตที่ไม่อยู่ในอำนาจรัฐของสองประเทศ แต่ภายหลังพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มเคลื่อนไหวผิดกฎหมาย ทั้งการค้าของเถื่อน ค้ามนุษย์และก่อการร้าย ซึ่งสภาพ No man’s Land มีทุกแนวตะเข็บชายแดน เคยเกิดขึ้นกับเกาะแก่งแม่น้ำโขงในประเทศลาว และได้เจรจากับไทยจนเป็นที่ยุติ ขณะที่แนวชายแดนด้านประเทศพม่าก็มีสภาพปัญหาไม่ต่างกัน และยังคงสภาพอยู่ในทุกวันนี้
สำหรับตะเข็บชายแดนด้านติดต่อกับประเทศกัมพูชา แหล่งข่าวในบทความระบุว่ามีสภาพ No man’s Land มีตลอดทั้งแนว การคงสภาพความไม่แน่นอนของเขตแดนให้อึมครึม และเป็นพื้นที่ความมั่นคง เอื้อประโยชน์ให้นักการเมือง นายทหาร และพ่อค้าหากินสะดวก กรณีจังหวัดสระแก้วซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามจังหวัดบ้านใต้มีชัย หรือบันเตียเมียนเจ็ยของกัมพูชา ระหว่างปี 2521-2522 นายทหารในแถบภาคตะวันออกร่ำรวยกับการค้าทองจากผู้หนีภัยสงครามกัมพูชา ที่นำทองมาขายเพื่อกิน ใช้และขอความคุ้มครอง
ขณะเดียวกัน พื้นที่โนนหมากมุ่น หนองจาน เป็นเขตความมั่นคงมาโดยตลอด อยู่ภายใต้การดูแลของทหารและตำรวจตระเวนชายแดน จึงปราศจากหน่วยงานอื่นอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง บริเวณพิพาทตั้งแต่หลักเขตที่ 45-48 ที่คลุมพื้นที่โนนหมากมุ่นจึงมีสภาพ No man’s Land ซึ่งเมื่อฝั่งไทยมีอิทธิพล และติดต่อกับทหารกัมพูชารู้เรื่อง ทำให้มีการกระทำผิดกฎหมายโดยสะดวก ทั้งการค้าสินค้าหนีภาษี การค้ามนุษย์ และสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ ประกอบกับที่ปอยเปตมีผู้มีอิทธิพลอีกรายคุมพื้นที่เก็บค่าผ่านทางสินค้าหนีภาษี กลุ่มการค้าเหล่านี้จึงย้ายมาใช้เส้นทางโนนหมากมุ่น
ในบทความยังกล่าวถึงกลุ่มผู้กว้างขวางในพื้นที่ บางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการย้ายหลักเขตให้ล้ำมายังฝั่งไทย เพื่อง่ายในการครอบครองที่ดิน ทำการเกษตรเช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการเปิดบ่อนการพนันการย้ายหลักเขตจึงไม่จำกัดเฉพาะความพยายามของกัมพูชาที่จะกินดินแดน แต่คนไทยมีส่วนสำคัญ เมื่อมีการร้องเรียนกรณีฝั่งกัมพูชายึดที่ดินชาวบ้านจึงไม่ได้รับการตอบสนอง
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวยังเกิดขึ้นกับ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด อยู่ตรงข้ามจังหวัดไพลินของกัมพูชา ขณะปัจจุบันมีความพยายามที่จะลากเส้นเขตแดนให้เป็นเส้นตรงในบางจุด เพื่อให้เหมืองพลอยอยู่ในเขตกัมพูชา ที่ขั้นตอนในการขออนุญาตทำเหมืองง่ายกว่าฝั่งไทย โดยมีเรื่องอื่นแทรกซ้อนด้วยเช่น การลักลอบตัดไม้พะยุงในเทือกดงรัก การเป็นทางผ่านส่งรถที่ถูกขโมยในไทยไปขายในกัมพูชา
บทความดังกล่าวระบุโดยสรุปว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดจากทั้งฝ่ายที่รับผิดชอบในพื้นที่และฝ่ายนโยบายซึ่งหมายถึงนักการเมือง ที่คอยหาประโยชน์จากความไม่ชัดเจนเรื่องเขตแดน คงสภาพความเป็น No man’s Land ไว้เป็นแหล่งทำมาหากิน ปัญหาเขตแดนจึงมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และไม่ใช่การทับซ้อนในการอ้างสิทธิ์ครอบครองของสองประเทศเพียงลำพัง แต่เป็นการทับซ้อนในผลโยชน์ของผู้มีอิทธิพลในระดับนโยบาย