“เรืองไกร” ส.ว.จอมร้อง เปิดศักราชปีเถาะ ด้วยการยื่นร้อง ป.ป.ช.เล่นงาน “มาร์ค-กรณ์” ทำผิดกฎหมายได้ประโยชน์จากการส่ง SMS อ้างที่ ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยไม่ผิด อาจพิจารณาข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน และควรพิจารณากรณีดำรงสถานภาพการเป็น ส.ส.ด้วย
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 62 ยื่นเรื่องต่อประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในฐานะ ส.ส.ได้รับประโยชน์อื่นใดจากการส่งข้อความสั้น (SMS) อันขัดต่อ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 103
ทั้งนี้ แม้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติหลังได้รับคำร้องเรื่องดังกล่าวก่อนหน้านี้ ว่า ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด เพราะดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือจากภาครัฐ อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณชน มิใช่เพื่อประโยชน์ของบุคคลทั้งสองในนามส่วนตัว ซึ่งอาจมีการตีความข้อกฎหมายเกินกว่าที่กำหนดไว้ และอาจพิจารณาในประเด็นข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน จากการให้ถ้อยคำของผู้ประกอบการทั้ง 3 บริษัท คือ เอไอเอส ดีแทค และ ทรูมูฟ ต่อ ป.ป.ช. ระบุให้ใช้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ส่ง โดยมีการเรียกผู้ประกอบการทั้ง 3 บริษัทไปประชุมที่โรงแรมโฟร์ซีซัน
นายเรืองไกร กล่าวว่า การรับประโยชน์เพื่อสาธารณะควรทำในนามของราชการ มิใช่การใช้สถานะส่วนตัวไปให้ความเห็นชอบและไปประชุมนอกสถานที่ราชการ ซึ่ง ป.ป.ช.ได้ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว และการพิจารณาว่าเป็นการขอให้บริษัทเอกชนให้ความช่วยเหลือราชการ ซึ่งทั้งสองคนยังไม่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแต่อย่างใด ก็ขัดหรือแย้งกับข้อพิจารณาที่แถลงออกมา จึงไม่น่าจะเป็นเหตุและผลที่สอดคล้องกัน
นอกจากนี้ การห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม มาตรา 103 ของรัฐธรรมนูญ จึงควรหมายถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายในมาตรา 4 ที่ให้หมายความถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งนอกจากนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี แล้วยังมี ส.ส., ส.ว.ด้วย ดังนั้น ป.ป.ช.ควรตรวจสอบนายอภิสิทธิ์ และ นายกรณ์ ที่ดำรงสถานภาพการเป็น ส.ส.ด้วย จึงขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนการพิจารณากรณีตีความเกินไปกว่าบทบัญญัติตามมาตรา 103 กำหนด ซึ่งตนเชื่อมั่นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะดำเนินตามอำนาจหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม ตามที่กฎหมายกำหนดไว้