ตำรวจปราบจลาจลสนธิกำลัง ตชด. ทหารหน่วยเคลื่อนที่เร็วจากกองพลที่ 1 รอ. และหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ตรึงกำลังทำเนียบฯ ตรวจค้นเข้ม ขณะที่ ขรก.-เจ้าหน้าที่ธนาคาร และไปรษณีย์ ในทำเนียบฯ รีบกลับบ้านตั้งแต่เที่ยง
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการรักษาความปลอดภัยในทำเนียรัฐบาล ภายหลังการประกาศพื้นที่ความมั่นคงใน กทม.และปริมณฑลตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เพื่อเตรียมรับมือกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง ที่เคลื่อนขบวนชุมนุมใหญ่ในวันที่ 12 มี.ค.นั้น มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยมีการระดมกำลังทหารจากหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (อาร์ดีเอฟ) จากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ของกองทัพอากาศ ตำรวจปราบจลาจล ตชด.หญิง จำนวนหลายกองร้อยเข้ามาประจำการรักษาความปลอดภัยทั่วพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีอาวุธเพียงโล่และกระบองเท่านั้น
นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครได้นำรถดับเพลิงหลายคันมาจอดกระจายทั่วพื้นที่ เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะที่บริเวณทางเข้าออกประตูทำเนียบรัฐบาลทุกด้านจะมีกำลังตำรวจ ทหารประมาณ 10 คน ยืนตั้งแถวรักษาการณ์อยู่ พร้อมตรวจสอบรถทุกคันที่เข้าออกอย่างละเอียด ทั้งการตรวจค้นภายในรถ เปิดฝากระโปรงท้ายรถ และนำกระจกตรวจใต้ท้องรถทุกคันที่ผ่านเข้าออก เพื่อตรวจสอบหาวัตถุต้องสงสัย รวมถึงการขึงลวดหนามตลอดแนวรั้วรอบทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ได้มีการขนย้ายอุปกรณ์สำนักงาน และเอกสารสำคัญออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันกรณีถูกบุกยึดทำเนียบ และได้เริ่มทยอยกลับบ้านในเวลา 12.00 น. รวมถึงธนาคาร และไปรษณีย์ที่ตั้งอยู่ในทำเนียบฯ ก็เปิดทำการเพียงแค่ครึ่งวันเช่นกัน
จากนั้นในเวลา 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ค่ายพระพุทธยอดฟ้า จังหวัดกาญจนบุรี จำนวน 152 นาย พร้อมโล่และกระบองประจำกาย ที่ใช้ระงับเหตุรวมทั้งสัมภาระส่วนตัวของแต่ละคน ทั้งนี้มีรายงานว่า ตชด.ที่ถูกสั่งให้มาประจำการที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ไม่ทราบกำหนดการว่าจะต้องอยู่ประจำเป็นเวลากี่วัน ทราบแต่เพียงว่าจะต้องอยู่จนกว่าเหตุการณ์สงบจนกว่าจะเข้าสู่ภาวะปรกติ
ส่วนที่รัฐสภา บรรยากาศภายในรัฐสภาตั้งแต่ช่วงเช้าได้มีตำรวจปราบจลาจลจำนวน 3 กองร้อยเข้ามารักษาการภายในรัฐสภา โดยนายพิทูร พุ่มหิรัญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยในรัฐสภาในช่วงวันที่ 12-15 มีนาคม ได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ (สน.สามเสน) เพื่อดูแลติดตามสถานการณ์ตามปกติ โดยหากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติจะประสานไปยังคณะกรรมการติดตามสถานการณ์ความมั่นคง หรือ คตม. ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาดูแลในรัฐสภาจะดูแลและติดตามสถานการณ์ไปจนกว่าการชุมนุมจะยุติ