xs
xsm
sm
md
lg

ภท.โวเสียง ส.ส.ชำเรา รธน.เกิน 100 “ชินวรณ์” หวั่นฝ่ายค้านโยงเสี้ยมชาติแตกแยก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย
ภูมิใจไทยเผย 5 พรรค แถลงข่าวจับมือแก้รัฐธรรมนูญแน่ โวเสียงเกินร้อยแล้ว “ชุมพล” ยันยังไม่มีพรรคไหนขอแก้เพิ่ม “ชินวรณ์” ย้ำพรรคร่วมไม่มีปัญหาประชาธิปัตย์ แต่หวั่นถูกฝ่ายค้านโยงเป็นประเด็นขย่มรัฐบาล สร้างความแตกแยก

วันนี้ (2 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการนัดแถลงข่าวร่วมกันของ 5 หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงบ่ายวันนี้ (2 ก.พ.) ที่โรงแรมสยามซิตี้ว่า จะเป็นการแถลงร่วมกันของหัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรคทั้ง 5 พรรคถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการส่งมอบรายชื่อที่ 5 พรรคร่วมลงชื่อกัน และตามที่ได้ข่าวซึ่งมีอยู่ร้อยกว่ารายชื่อแล้วก็ถือว่าเพียงพอแล้ว จะขาดก็ประมาณ 204 เสียง ตรงนั้นไม่น่ามีปัญหา สามารถผ่านวาระหนึ่งได้

“วันนี้เหตุผลสั้นๆ ก็คือ สิ่งที่ได้แถลงไปว่าพรรคร่วมจะเดินหน้าต่อ เป็นการแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ได้พูดกับประชาชนว่าจะเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการแสดงให้เห็นถึงสัจจะของกลุ่ม ส่วนพรรคจะประชาธิปัตย์จะมาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญกับ 5 พรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้นก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน” นายศุภชัยกล่าว

ขณะที่ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและการกีฬา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เท่าที่ผ่านมายังไม่มีพรรคไหนติดต่อเพื่อขอปรับแก้แต่อย่างใด ซึ่งการนัดพบกันในวันนี้เป็นการแถลงจุดยืนร่วมกันครั้งสุดท้ายก่อนยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภา

ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ขอให้ติดตามในการแถลงข่าวของหัวหน้าพรรคที่จะบอกจำนวนเสียงในพรรคของตนเองอีกครั้งในวันนี้

ทาง ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลจะยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คงไม่มีปัญหา เพราะตั้งแต่เมื่อครั้งที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) พรรคร่วมฯ ทุกคนยืนยันว่าเป็นเรื่องของกระบวนการรัฐสภาที่จะดำเนินการ และตนได้ยืนยันว่าอย่าตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายค้าน ที่จะทำให้ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญเป็นการสร้างความแตกแยก ดังนั้น วิปทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา หากมีการสร้างความแตกแยกต้องแสวงหาความเห็นพ้องต้องกัน เพราะการรับหลักการในวาระแรกต้องมีเสียงเกินกว่า 312 เสียง เพราะเรื่องนี้เคยมีการพูดคุยกันตั้งแต่การเสนอความคิดในข้อสรุปของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ทั้ง 6 ประเด็น
กำลังโหลดความคิดเห็น