นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นศาลปกครองสูงสุดฟ้องนายกฯและครม. ขอไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 พร้อมขอเพิกถอนคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ชี้ยังไม่ถามความเห็นประชาชนก่อนออกกฎหมาย
วันนี้ (20 ม.ค.) ที่ศาลปกครอง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินและคุ้มครองชั่วคราว ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 ฉบับลงวันที่ 12 ม.ค.2553 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ได้รับทำความเห็นจากประชาชน
โดยในคำฟ้องระบุว่า ภายหลังคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ในการแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานฯ ได้ศึกษาและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อให้มีการออกระเบียบดังกล่าวในวันที่ 11 ม.ค.53 ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาและมีมติให้ออกระเบียบดังกล่าว โดยให้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเษกษาและมีผลบังคับใช้ในวันที่ 12 ม.ค.53 ทั้งที่ยังไม่เคยจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากระเบียบดังกล่าวเกี่ยวพันกับประชาชนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 200 องค์การ องค์การด้านสุขภาพกว่า 500 องค์กร และสถาบันอุดมศึกษาอีกกว่า 200 สถาบัน ซึ่งถือว่าทั้งหมดเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง ทำให้ระเบียบดังกล่าวถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ ในระเบียบดังกล่าวยังกำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ (เฉพาะกาล) ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ซึ่งถือว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนกันกับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เนื่องจากคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเป็นผู้ทำหน้าที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการประสานงานฯชุดนี้ โดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นบุคคลจากทางภาครัฐและไม่มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้อาจขัดหรือแย้งหรือละเมิดต่อระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของข้าราชการการเมือง พ.ศ.2551 และประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือนที่ประกาศบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 พ.ย.2552 ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 บัญญัติไว้
ดังนั้นจึงเดินทางมายื่นเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหรือยกเลิกระเบียบ สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระใน โครงการหรือกิจกรรมที่อาจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ.2553 ฉบับลงวันที่ 12 ม.ค.2553 รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้คณะทำงานแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศอย่างน้อย 4 ภูมิภาค รวมทั้งกรุงเทพฯ ก่อนที่จะออกกฎตามคำสั่งของกฎหมาย อีกทั้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหรือยกเลิกมติคำสั่งของผู้ถูกฟ้องที่แต่งตั้งหรือเห็นชอบคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง
ด้าน นายศรีสุวรรณกล่าวว่า ตนคิดว่าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายทำงานเร่งรัดและเร่งรีบเกินไป จนอาจทำให้ผลของการทำงานไม่สอดคล้องกับปัญหาของผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยคณะกรรมการ 4 ฝ่ายควรที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก่อนที่จะส่งเรื่องไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและออกเป็นระเบียบดังกล่าว โดยก่อนหน้านี้ตนเคยทำหนังสือท้วงติงไปยังนายกฯ และคณะกรรมการ 4ฝ่ายมาแล้ว เพราะการทำงานที่เร่งรีบอาจทำให้เนื้อหาของระเบียบดังกล่าวขาดความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เราต้องการให้นำระเบียบดังกล่าวกับมาแก้ไขและให้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทำความคิดเห็นจากประชาชนเสียก่อน