xs
xsm
sm
md
lg

หกรอบ พระพรหมคุณาภรณ์ ปราชญ์แห่งกองทัพธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ติดกับพุทธมณฑลด้านทิศใต้ฝั่งถนนพุทธมณฑลสาย 4 ลึกเข้าไป 2 กิโลเมตรเศษ คือ วัดญาณเวศกวัน

ชื่อ "ญาณเวศกวัน" มีความหมายว่า "ป่าที่มีเรือนแห่งความรู้" หรือ "ป่าของผู้เข้าสู่ญาณ" ภายในเนื้อที่ 28 ไร่ของวัดจึงร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่มากกว่าสิ่งปลูกสร้าง สมดั่งเป็นอารามที่เป็นป่าสำหรับการแสวงหาความรู้ เจริญธรรม เจริญปัญญา

วัดญาณเวศกวันได้รับอนุญาตให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2532 เริ่มมีพระสงฆ์เข้าจำพรรษาในปีเดียวกันนั้น และมีประกาศตั้งเป็นวัดในปี พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2542 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

วัดนี้ไม่แจกเครื่องรางของขลัง แต่แจกธรรมะที่เป็นหนังสือและแผ่นซีดี เพราะ “การถือธรรมเป็นใหญ่ ยกธรรมเป็นมาตรฐานสูงสุด เป็นหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา”

ของดีที่ทรงคุณค่ายิ่งในวัดญาณเวศกวันนอกจากพระพุทธประธาน ญาณเวศกวโรดม ซึ่งเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระธรรมซึ่งแจกฟรีให้กับทุกคนแล้ว คือพระสงฆ์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) เจ้าอาวาส นักปราชญ์สำคัญของไทยและของโลกในสายพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งจะมีอายุครบ 6 รอบในวันพรุ่งนี้

เกือบ 30 ปีที่แล้ว พระพรหมคุณาภรณ์ ซึ่งครั้งนั้นยังครองสมณศักดิ์เป็นพระราชวรมุนีเคยเตือนไว้ว่า ชาวพุทธกำลังอยู่ในสภาพเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่นไปเรื่อยๆ "เหมือนหนีไปรวมกันอยู่บนเกาะที่ถูกน้ำล้อมรอบ ขาดจากชาวมนุษย์อื่น" และต่อไปอาจถึงขั้นว่า "การปฏิบัติตามหลักการของพระพุทธศาสนาไม่อาจเป็นไปได้เลย"

“ ทั้งนี้ เพราะพุทธ ศาสนาถูกตีความให้แคบจนเหลือแต่ด้านเดียวคือมิติด้านลึก (หรือยิ่งกว่านั้นคือเหลือแต่เพียงประเพณีพิธีกรรม ซึ่งเป็นความตื้นอย่างยิ่ง) การตีความเช่นนั้นเป็นการตีกรอบพุทธศาสนาให้มีบทบาทแคบลง คือไม่สนใจชะตากรรมของสังคม การจำกัดตัวเช่นนี้นอกจากจะทำให้วัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียด เฟื่องฟูและซึมลึกแล้ว ยังเป็นผลเสียต่อพุทธศาสนาเอง เพราะสังคมที่ถูกครอบงำด้วยวัฒนธรรมแห่งความละโมบและความโกรธเกลียดนั้น ย่อมบั่นทอนพลังของพุทธศาสนาเอง และทำให้พื้นที่ในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธแคบลง จนแม้แต่การรักษาตนให้มีคุณธรรมก็จะเป็นไปได้ยากขึ้น”
(จากบทความเรื่อง ก่อนพุทธศาสนาอายุครบ 26 ศตวรรษ ในคอลัมน์ มองอย่างพุทธ โดยพระไพศาล วิสาโล หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551)

ในฐานะนักรบแห่งกองทัพธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ทำการศึกษา ค้นคว้า หลักธรรมของพระพุทธองค์ เพื่อเผยแพร่ อธิบายชีวิตและสังคม เพื่อขยายบทบาทของพุทธศาสนาในมิติด้านกว้าง ซึ่งหมายถึงการช่วยเหลือมหาชนให้พ้นทุกข์และเกื้อกูลสังคมให้เกิดสันติสุข

คำสอนทางพุทธศาสนาไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อชักนำผู้คนให้เข้าถึงปรมัตถธรรมเท่านั้น หากยังมุ่งส่งเสริมให้ผู้คนมีสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวม และช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุข

ธรรมนิพนธ์ของพระพรหมคุณาภรณ์มีมากถึง 327 เรื่อง ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีทั้งเรื่องที่เป็นหลักธรรมล้วนๆ และเรื่องที่เป็นการอธิบายโลกด้วยหลักธรรม รวมทั้งทัศนะของท่าน ต่อประเด็นที่เป็นเรื่องโต้แย่งกันในวงการพุทธศาสนา เช่น กรณีธรรมกาย กรณีสันติอโศก และ การเรียกร้องให้กำเนิดศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ฯลฯ

ผลงานที่จัดว่าเป็นเพชรน้ำเอก คือหนังสือ พุทธรรม ซึ่งเขียนขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2514 โดยนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ อาราธนาให้เขียนเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ หรือ พระองค์วรรณฯ จัดพิมพ์โดยโครงการตำราสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาเรียกว่า ฉบับดั้งเดิม เพราะหลังจากนั้นได้มีการขยายความเพิ่มเติมอีกมาก ดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

หนังสือ พุทธธรรม เป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าทางพระพุทธศาสนามากที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะประมวลหลักพุทธธรรม หรือกฎของธรรมชาติในแง่มุมต่างๆ โดยดึงเอาคำอธิบายจากพระไตรปิฎก, อรรถกถา,ฎีกา, อนุฎีกา ฯลฯ มาไว้อย่างครบถ้วน สมบูรณ์มาก

เมื่อ พ.ศ.2519 พระพรหมคุณาภรณืได้รับอาราธนาไปเป็นวิทยากรสอนวิชาพระพุทธศาสนา ที่สวาทวิทยาลัย รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เกิดความคิดที่จะตอบแทนคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงกับที่พำนักของท่านที่ให้การอุปฐากในด้านต่างๆ จึงเขียนหนังสือแสดงหลักธรรมพื้นๆ ง่ายๆ ที่เหมาะสมแก่ฆราวาส เพื่อเผยแพร่ความรุ้ทางธรรม ให้เป็นหลักในการครองชีวิต ชื่อว่า “คู่มือดำเนินชีวิต” แจกจ่ายแก่คนไทย ซึ่งต่อมามีผ้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์แจกจ่ายกันต่อๆ ไป

ในเดือนมกราคม 2522 ท่านเจ้าคุณได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใหม่อีกมาก และเปลี่ยนชื่อเป็น “ธรรมนูญชีวิต” ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการพิมพ์แจกฟรีโดยผู้มีจิตศรัทธาจนนับมาถ้วนครั้งแล้ว

ธรรมนูญชีวิต คือคู่มือในการดำเนินชีวิต เพื่อให้เป็น คนเต็มคน นายบรูซ์ อีแวนส์ ผู้แปลธรรมนูญชีวิตเป็นภาษาอังกฤษ กล่าวไว้ตอนหนึ่งในบทนำว่า “ เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมจากพระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหลาย ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา สายเถรวาท ที่ทุกวันนี้ยังใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต และถือปฏิบัติกันอยู่ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำสอนนี้มีอายุเกินกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่มิได้คร่ำคร่าล้าสมัยแต่ประการใด ในสังคมปัจจุบันยุคถือหลักความเสมอภาคที่แบบแผนความประพฤติต่างๆ ตามที่ถือสืบๆ กันมาแต่เดิมได้ถูกล้มล้างลงไป หรือถูกตั้งข้อสังสัยไปหมด และทั้งๆ ที่มีแนวคิดภูมิปัญญาชนิดที่ว่า “รู้แจ้งเจนจบ” แพร่สะพัดไป แต่ชีวิตของผู้คนกลับสับสนวุ่ยวายยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆ ในสภาพเช่นนี้ คำสอนของพระพุทธศาสนาที่ย้อนยุคสมัย มีมาแต่ครั้งที่อะไรๆ ยังเป็นไปตามธรรมดาสามัญอย่างมากมายนั้น จะเป็นเสมือนกระแสอากาศสดชื่นบริสุทธิ์ที่ผ่านเข้ามาในห้องที่ผู้คนแออัด บางทีอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะหวนกลับไปหาคุณค่าที่ว่าเก่าๆ แต่คงทนดีกว่า “

ธรรมนุญชีวิต จัดว่าเป็นเพชรน้ำงามสำหรับผู้คนในทางโลกที่ต้องการมีแผนที่ชีวิตเป็นเครื่องนำทาง

กำลังโหลดความคิดเห็น