xs
xsm
sm
md
lg

เปิดวิทยานิพนธ์ “สดศรี” แบ่งเขตแบบไหนก็ไม่ช่วยลดทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม
เปิด “วิทยานิพนธ์ ดร.สดศรี” ชี้เลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว หรือเขตละไม่เกิน 3 คน ไม่ส่งผลโดยตรงต่อการทุจริตเลือกตั้ง แต่อาจส่งผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงของผู้สมัคร เผยสถิติเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ปี 50 มีเรื่องร้องเรียนน้อยกว่าแบบเขตเดียวเบอร์เดียวปี 44 และ 49 หลายเท่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค. นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ได้นำวิทยานิพนธ์ของตนที่ได้ทำไว้ในการศึกษาหลักสูตรปริญญารัฐประศาสนศาสตรดุษฏีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ พระราชูประถัมภ์ เมื่อ พ.ศ.2551 นำลงแผ่นซีดี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม กรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.50” มาแจกจ่ายให้กับพนักงานในสำนักงาน และผู้ที่เข้าอวยพรปีใหม่

วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น เพราะได้มีการวิเคราะห์การจัดการเลือกตั้งในระดับนโยบาย ระดับภาระหน้าที่และระดับปฏิบัติการในพื้นที่ 76 จังหวัด โดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ซึ่งวิทยานิพนธ์นี้ก็ได้มีทั้งข้อที่เป็นปัญหาอุปสรรค รวมถึงเสนอแนะปรับปรุงเพื่อให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่นในเรื่องปริมาณงานมากกว่าจำนวนเจ้าหน้าที่ การจัดการเลือกตั้งและการวินิจฉัยชี้ขาดมีปริมาณงานมากทำให้เกิดความล่าช้า ส่วนปัญหาหรือภาวะกดดันคือปริมาณงานช่วงเลือกตั้งมีมาก แต่มีเวลาจำกัดในการบริหารในช่วงเลือกตั้ง และโอกาส

ส่วนในเนื้อหาที่เสนอเพื่อการพัฒนาในอนาคต คือ 1.จัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตย พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง เพื่อพัฒนาเจ้าหน้าที่สำนักงาน โดยร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน 2.จัดตั้งศาลเลือกตั้งขึ้น เพื่อวินิจฉัยการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง 3.ต้องกระจายอำนาจ จากส่วนกลางสู่ระดับจังหวัดให้มากขึ้น

ในบทวิทยานิพนธ์นี้ก็ยังได้มีความเห็นในเรื่องของการกำหนดเขตเลือกตั้ง แบบเขตเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว และ เขตละไม่เกิน 3 คน ทำให้ลดการทุจริตในการเลือกตั้งได้หรือไม่ โดยได้ทำการสอบถามเก็บข้อมูลกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับนโยบาย คือ กกต. สำนักงาน กกต.และเจ้าหน้าที่ฝ่ายระดับปฏิบัติในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กกต.จังหวัดและผอ.กต.จังหวัดทั้ง 76 คน เห็นว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งจำนวน ส.ส. โดยกำหนดให้เลือกตั้งได้เขตละ 1 คน เป็นเขตละไม่เกิน 3 คน ทำให้ลดการทุจริตในการเลือกตั้งได้หรือไม่ คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็น ว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งไม่ได้มีผลโดยตรงกับการทุจริต แม้ว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงเลือกตั้ง และมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันหลายประการ แต่หากผู้สมัครรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองตั้งเป้าหมายหรือผลลัพธ์การเลือกตั้งไว้ที่การได้คะแนนเสียงจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงวิธีการที่จะได้คะแนนเสียง ไม่ว่าจะมีการกำหนดเขตการเลือกตั้งไว้อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการทุจริตในการเลือกตั้งจะลดลงได้ยาก

เมื่อได้พิจารณาข้อดีข้อเสียของการกำหนดเขตเลือกตั้งที่ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเดียวคนเดียว กับเลือกตั้ง ส.ส.ได้เขตละไม่เกิน 3 คน ปรากฏว่าจากสถิติการร้องเรียนและร้องคัดค้าน ในการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว มีการร้องคัดค้านการเลือกตั้งจำนวนมากกว่าแบบเขตเลือกตั้งละไม่เกิน 3 คน กล่าวคือ การเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเดียวคนเดียว ซึ่งมีการเลือกตั้ง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2544 และ ปี พ.ศ.2549 มีการร้องเรียนและร้องคัดค้าน 4,584 เรื่อง และ 1,671 เรื่องตามลำดับ ส่วนการร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตละไม่เกิน 3 คน ในปี พ.ศ.2550 มีจำนวนเรื่องร้องคัดค้าน 657 เรื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การกำหนดเขตเลือกตั้งแบบใดก็ตามยังมีเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้งโดยวิธีการซื้อเสียงอยู่เช่นเดิม

นางสดศรีกล่าวถึงวิทยานิพนธ์ของตนเองที่ไม่สามารถฟันธงว่าแบบไหนดีกว่ากันว่า เนื่องจากเป็นงานทางด้านวิชาการ ที่เราต้องมีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อเสนอแนะ ในส่วนที่บกพร่อง การทำงานเรื่องนี้ก็อาจจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่สนใจ อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้เขตเลือกตั้งเป็นอย่างไรก็ไม่กระทบต่อการทำงานของ กกต. เพราะ กกต.ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว

ด้าน นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจที่จะดำเนินการ ส่วน กกต.ก็เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะกำหนแบบไหน กกต.ในฐานะผู้ปฏิบัติก็ต้องดำเนินการให้ได้ อย่างไรก็ตามตนก็ไม่อยากมีความเห็นในเรื่องนี้ รอให้เขาพูดคุยกันว่าจะดำเนินการอย่างไร ว่าจะเขตเดียวเบอร์เดียว หรือจะเขตเดียวพวงใหญ่ก็ต้องให้เขาว่ากันไป หากมีกาเลือกตั้งในปีนี้ กกต.ก็พร้อมทุกเมื่อ เพราะเคยมีประสบการณ์จัดการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว ซึ่งจะดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น