xs
xsm
sm
md
lg

พ.ร.บ.ค้าปลีกฉลุย คาดยกร่าง 1 เดือนก่อนชงเข้าสู่สภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีมติรับหลักการ ให้ยกร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีก โดยยึดเกณฑ์กระทรวงกระทรวงพาณิชย์ เป็นหลัก มอบ 3 หน่วยงานเรียบเรียง ชง ครม.สัปดาห์หน้า คาด 1 เดือนเสร็จก่อนชงสภา


วันนี้ (2 ธ.ค.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ ให้ยกร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ... เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ที่ประชุมมีมติว่า กฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกับความเป็นธรรม ในด้านระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย และธุรกิจค้าปลีก หรือค้าส่งขนาดใหญ่ ซึ่งเจตนารมณ์ของร่างกฎหมายที่เสนอทั้ง 2 ฉบับ ต้องการสร้างความชัดเจoของหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

“อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ยังมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ที่ประชุมเห็นว่า ควรยึดร่างกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ เป็นหลัก โดยให้ตัดเรื่องคณะกรรมการระดับจังหวัดออก และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานกับผู้แทนการค้าไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อนำเสนอประเด็นข้อแตกต่างของร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง พ.ศ...และนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจในสัปดาห์หน้า”

ทั้งนี้ ที่ประชุม รับทราบว่า กระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวม ร่างกฎหมายจากทุกองค์กร และสถาบันต่างๆ ที่เสอนมาในวันนี้มาเรียบเรียงเสนอเป็น ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วย โดยคาดว่าใน 1 เดือนจะสามารถร่างกฎหมายแล้วเสร็จ

ด้าน นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) มีมติรับร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกหรือค้าส่ง ทั้ง 2 ฉบับ โดยมีความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีความเกี่ยวข้องกันในด้านการค้า ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการรายย่อย และธุรกิจค้าปลีก หรือค้าส่งขนาดใหญ่

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับยังมีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งคณะกรรมการได้มอบหมายให้ทางกระทรวงพาณิชย์ หารือร่วมกับผู้แทนการค้าไทย เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการ ข้อกฎหมาย การขยายสาขา เวลาการเปิดปิด ร่วมถึงการจัดตั้งกองทุน เพื่อพัฒนาการค้าปลีกรายย่อย และส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตีความ ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น