xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” ย้ำต้องปฏิรูป ร.ฟ.ท. ดึงเอกชนร่วมลงทุนระบบรางคู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรีระบุปัญหา ร.ฟ.ท.ต้องทบทวนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป เตรียมลงทุนระบบรางคู่เชื่อมโยงการเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน พร้อมปรับปรุงระบบการบริหารจัดการของการรถไฟฯ ทั้งเรื่องระบบราง การจัดการเดินรถและทรัยพ์สิน

วันนี้ (15 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” เป็นครั้งที่ 44 ซึ่งสัปดาห์นี้เป็นเทปบันทึกภาพที่นายอภิสิทธิ์บันทึกไว้ในระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยนายกฯ กล่าวถึงมติของ ครม.เศรษฐกิจในเรื่องของการปรับปรุงการรถไฟฯ ว่า ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นในเรื่องของความขัดแย้งระหว่างฝ่ายพนักงาน ฝ่ายบริหาร และที่สำคัญคือว่าปัญหาความปลอดภัย หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นเวลามีการหยุดให้บริการ ซึ่งตนได้เคยบอกกับพี่น้องประชาชนว่านอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้รถไฟกลับมาบริการตามปกติแล้ว ประเด็นปัญหาทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับรถไฟทั้งหมด รัฐบาลจะได้ดำเนินการมาทบทวนเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป

“คณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจึงได้มีการประชุมในเรื่องนี้และได้มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนแล้ว นั่นก็คือว่า การลงทุนที่สำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นในส่วนของการรถไฟฯ ต่อไปนั้น เริ่มตั้งแต่การลงทุนซึ่งจะนำไปสู่ความมั่นใจในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยทั้งหมด มีการสำรวจตรวจสอบตั้งแต่เรื่องของทาง ระบบราง อาณัติสัญญาณ ไปจนถึงหัวรถจักร สรุปมาเรียบร้อยว่าขณะนี้อุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่มีส่วนไหนบ้างที่จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณจากปฏิบัติการไทยเข้มแข็งไปแล้ว ในส่วนที่เหลือก็มีการรวบรวมเป็นตัวเลขขึ้นมา” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 การปรับปรุงหรือการขยายบริการที่สำคัญคือว่าเราต้องที่จะให้รถไฟมีบทบาทสำคัญมากขึ้น หรือการขนส่งระบบรางมีความสำคัญมากขึ้นในการขนส่งทั้งสินค้าและคน ปัจจุบันข้อจำกัดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากเรื่องของปัญหาที่ได้พูดไปแล้ว ก็คือว่าความเร็วที่รถไฟของเราวิ่งอยู่ จะอยู่ที่ประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยเหตุผลในเรื่องของอุปกรณ์ ด้วยเหตุผลในเรื่องของราง และด้วยเหตุผลที่มีระบบรางเดี่ยว ทำให้มีการเสียเวลาในเรื่องของการสับหลีก ซึ่ง ครม.เศรษฐกิจได้เป้าว่านอกเหนือจากการรวบรวมตัวเลขลงทุนในเรื่องของการเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว ตั้งเป้าว่ารถไฟนั้นจะต้องสามารถวิ่งอยู่ที่ประมาณ 100-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งหมายถึงนอกจากการปรับปรุงรางหรือเส้นทางเดิม ก็จะมีการลงทุนในเรื่องของระบบรางคู่

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า นอกจากนั้นยังจะมีหลายพื้นที่ซึ่งปัจจุบันนั้นยังไม่ได้รับบริการในเรื่องของรถไฟ ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ทางอีสาน ซึ่งจะมีการดำเนินการเพื่อที่จะทำให้รถไฟของเราเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะฉะนั้น เส้นทางที่สำคัญก็คือ เส้นทางที่ออกไปจากบัวใหญ่ก็จะไปทางมุกดาหาร และไปถึงนครพนม เพื่อที่จะเชื่อมโยงกับทางลาวและเวียดนามต่อไป หรือเส้นทางทางเหนือที่จะต้องไปเชื่อมโยงกับจีนที่จะลงมาทางด้านเหนือของเรา จากเด่นชัยไปเชียงรายและไปที่ชายแดน ก็จะเป็นเส้นทางลงทุนที่สำคัญนอกเหนือจากการเพิ่มรางคู่ในพื้นที่ที่จะลดเวลาในเรื่องของการสับหลีก และทำให้รถไฟวิ่งได้เร็วขึ้น

“การลงทุนตรงนี้ทั้งหมดอาจจะเป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการก็คือ บางส่วนจะดำเนินการในกรอบของไทยเข้มแข็ง บางส่วนจะนำไปสู่การเจรจาระหว่างประเทศ ซึ่งผมเองได้มีการเกริ่นนำเอาไว้ ยกตัวอย่างเช่นกับทางประเทศจีนที่สนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในเรื่องนี้ และนอกจากนั้นก็จะมีโครงการความเป็นไปได้ที่จะเชิญชวนภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งตรงนี้จะครอบคลุมไปถึงอีกโครงการหนึ่งคือรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะได้มีการศึกษาความเหมาะสมความเป็นไปได้ของเส้นทางและการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วม” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า เส้นทางที่ตอนนี้ดูจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ รถไฟความเร็วสูงที่จะวิ่งจากกรุงเทพฯ ออกไปยังภาคตะวันออก ก็ไประยอง จันทบุรี และอาจจะไปถึงตราด ซึ่งทั้งหมดนี้ ครม.เศรษฐกิจได้เห็นชอบในหลักการก็จะมีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป แล้วในเรื่องของแหล่งเงินทุนทางกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทางกระทรวงคมนาคมก็จะไปจัดออกมาว่าตรงไหนอยู่ในไทยเข้มแข็ง ตรงไหนอยู่ในงบประมาณปกติ ตรงไหนที่จะเป็นความร่วมมือกับต่างประเทศหรือกับภาคเอกชนต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนที่ 2 ในเรื่องของการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการ ตรงนี้ข้อเสนอก็จะมีการกลับมา ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีต้องการที่จะให้มีการแยกบริษัทออกมา แต่ว่าเมื่อมีการท้วงติงและยังมีความไม่สบายใจก็จะใช้วิธีการในเรื่องของการจัดทำเป็นหน่วยธุรกิจ คือมีการแยกบัญชี แต่ทั้งหมดยังอยู่ภายใต้การรถไฟ ก็จะแบ่งเป็นในส่วนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องราง ที่ดูแลเรื่องการเดินรถ และหน่วยงานที่ดูแลในเรื่องของทรัพย์สิน ซึ่งตรงนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการที่จะปรับปรุงทั้งโครงการ ทั้งในเรื่องของระบบบุคลากรทั้งหมดของการรถไฟฯ ต่อไป แต่ว่าความจำเป็นที่จะต้องมีการแยกอาจจะเป็นเรื่องของบริษัทที่มารองรับโครงการพิเศษ เช่นกรณีของรถไฟที่เชื่อมกับทางสนามบินสุวรรณภูมิเข้ามาสู่ตัวเมืองในขณะนี้ก็จะเป็นเรื่องที่เราจะมีการดำเนินการเพื่อไปหารือกับทางการรถไฟฯ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร พนักงาน สหภาพฯ ให้เรียบร้อยโดยเร็วที่สุด ฉะนั้นทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของการกำหนดแนวทาง วิสัยทัศน์ สำหรับการปฏิรูปรถไฟซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น