เครือข่าย ปชช.ภาคตะวันออก ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด เดินทางถึงรัฐสภา เตรียมยื่นหนังสือถึง ปธ.วุฒิสภาตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล รอเจรจา “มาร์ค” เพื่อให้ดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองอย่าบิดพลิ้ว
วันนี้ (28 ต.ค.) เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกว่า 200 คน นำโดย นาย สุทธิ อัยชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯ รวมทั้งประชาชนจากจ.ระยอง ในเขตพื้นที่มาบตาพุด กว่า 30 คน ที่เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.รวม 5 วัน 4 คืน เข้า ยื่นหนังสือต่อ นาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่ง ให้ระงับการดำเนินงานของ 76 โครงการชั่วคราว ในเขตพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯ ได้นำหอยเน่า และน้ำที่ปนเปื้อนสาร โลหะหนัก มาแสดง รวมถึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ช่วยมาดูแลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากมีเครือข่ายภาคประชาชนมาเคลื่อนไหวครั้งนี้แล้ว ยังมีกลุ่มพันธมิตรฯ นำโดยนายพิภพ ธงไชย และกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ถือมือตบ มาร่วมตั้งเวทีปราศรัยที่ดัดแปลงจากรถปิคอัพ ปราศรัยโจมตีการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ไม่เคยสนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ที่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และการยึดหลักการรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเพียงแค่โวหาร ไม่ยอมทำตามและมาอ้างว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ต้องออกกฎหมายลูกก่อนทั้งที่จริง ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้ นอกจากนี้ การที่อ้างความเสียหายของเศรษฐกิจของประเทศ 4 แสนล้านบาท และคนตกงาน หากไม่อนุมัติการดำเนินการโครงการ คงไม่ใช่ แต่น่าจะเป็นเศรษฐกิจของตัวนายทุนมากกว่า และยังมีคนนามสกุลเดียวกับรัฐมนตรีในรัฐบาลไปทำโรงไฟฟ้าที่มาบตาพุดแต่อีกด้านกลับมารณรงค์เรื่องโลกร้อน
จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทนเครือข่ายฯ นำโดยนาย สุทธิ อัยชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนาย ประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่ตึกวุฒิสภา พร้อมกันนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะสนทนาย่อย โดยนำ ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเบ้าตา และโรคภูมิแพ้ ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงานในเขตพื้นที่มาบตาพุด มาร่วมพูดคุย ในครั้งนี้ด้วย
นายประสพสุข กล่าวว่า กรณีความเดือดร้อดของประชาชนจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กฏหมายรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้แล้ว และในส่วนของวุฒิสภาก็จะเร่งดำเนินการให้อย่างเร็วที่สุด โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภา ทั้ง 5 คณะกรรมาธิการ ได้ดำเนินการในเบื้องต้นแล้วขอให้มั่นใจได้
นาย ประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ตัวแทน 5 กมธ.ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กล่าวว่า กมธ.ทั้ง 5 คณะจะประชุมเพื่อหาแนวทางเสนอแก่รัฐบาลในวันที่ 30 ต.ค.โดยเบื้องต้นจะเสนอให้รัฐบาลโดยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มาจากคนกลางซึ่งประชาชนยอมรับ เพราะขณะนี้เกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจระหว่างชาวบ้าน ราชการ และเอกชน อย่างรุนแรง และในกรรมการให้มีตัวแทน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิคมอุตสาหกรรม ฝ่ายประชาชน ฝ่ายราชการ และฝ่ายวิชาการและสื่อมวลชน มาศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางการแก้อย่างบูรณาการ ทั้งมิติเศรษฐกิจการลงทุน ธรรมาภิบาล การรักษาสิ่งแวดล้อมที่สามารถปฏิบัติได้จริง คุณภาพชีวิต การเยียวยา การจัดทำข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงงานที่สามารถควบคุมมลพิษได้และไม่ได้ เพราะยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งเรื่องค่ามลพิษ และต้องศึกษามิติด้านกฎหมาย โดยต้องศึกษาให้เสร็จอย่างเร่งด่วนใน 2 เดือน เพื่อเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการบริหารจัดการ เพื่อให้เป็นแบบอย่างและมาตรฐานสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆที่มีปัญหาเช่น บางสะพาน อุดรธานี สระบุรี เพราะร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลจัดทำอยู่ เชื่อว่า ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนกว่าจะเสร็จ ขณะที่โรงงานยังเดินหน้าปล่อยมลพิษ ชาวบ้านก็ตายผ่อนส่ง