โฆษก ปชป.รับห่วงนักธุรกิจ 76 โครงการมาบตาพุด ชี้ รบ.พยายามทำตาม รธน.50 ด้วยการออกกฎหมายลูกตาม ม.67 แต่หวั่นแล้วเสร็จไม่ทันสมัยประชุม เล็งชงนายกฯ ออก พ.ร.ก.สิ่งแวดล้อม คลี่คลายปัญหาไปก่อน เพื่อให้ 76 โครงการเดินหน้าต่อไป
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตนมีความกังวลใจเกี่ยวกับโครงการมาบตาพุดทั้ง 76 โครงการ มูลค่ากว่า 4 แสนล้าน ที่ถูกระงับการดำเนินการโดยคำสั่งศาลปกครองสูงสุด แม้ว่าในการประชุมครม.ได้มีความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ตามมาตรา 67
นายอรรถวิชช์กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรา 67 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ทำให้เกิดเงื่อนไข 4 ประเด็น กับโครงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนี้
1. ต้องมีการทำ EIA (การประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม)
2. ต้องมีการทำ HIA (การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชน)
3. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
4. ต้องให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ประกอบกับผู้แทนของสถาบันอุดมศึกษาให้ความเห็นชอบก่อน
นายอรรถวิชช์กล่าวเสนอว่า ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเร่งด่วนก็คือ ออกกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมให้สอดรับกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ทั้งนี้ตนในฐานะรองโฆษกพรรค ด้านเศรษฐกิจ และอยู่ในวิปรัฐบาล มีความเห็นว่าในการออกกฎหมายลูกนั้น ควรออกเป็นพระราชกำหนดส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อคลี่คลายปัญหาการดำเนินโครงการ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปก่อน
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และจำเป็นรีบด่วน ขอให้ทางรัฐบาลใช้โอกาสในการใช้อำนาจในฝ่ายบริหาร โดยการออกเป็นพระราชกำหนด เพราะหากออกเป็นพระราชบัญญัตินั้น เกรงว่าจะไม่ทันสมัยประชุม เพราะสภาฯจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 พ.ย.นี้การออกพระราชบัญญัตินั้นจะต้องผ่านทั้ง 2 สภา คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ดังนั้น ขอให้รัฐบาลใช้ทางเลือกในการออกเป็นพระราชกำหนด ซึ่งน่าจะเป็นทางที่เหมาะสมกว่า” นายอรรถวิชช์กล่าว