เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ผ่านไปแล้ว 33 ปี ทุกปี จะมีการจัดงานรำลึก และทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ
ปีนี้ มีผู้มาร่วมงานบางตาน้อยกว่าทุกปี ส่วนใหญ่เป็นญาติผู้เสียชีวิต และผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์เท่านั้น
เป็นธรรมดาสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกผูกพันของคนที่เคยมีส่วนร่วมก็ย่อมจะเจือจางลงไป สำหรับคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง หรือคนที่เกิดไม่ทันเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็ยิ่งเหินห่าง อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มันคืออะไร
ไม่ว่า วันเวลาจะผ่านไปอีกนานเท่าใด คนที่มาร่วมงานรำลึก 6 ตุลา จะน้อยลงๆไปทุกปีๆ แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา จะไม่เลือนหายไป เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ได้ถูกบันทึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยไปแล้วว่า ครั้งหนึ่ง คนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นเรียกร้องความถูกต้อง เป็นธรรม ต้องถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ด้วยอำนาจรัฐ
6 ตุลา เป็นวันของประชาชน ทุกๆ ปี เมื่อวันที่ 6 ตุลา เวียนมาถึง ยังมีคนอีกจำนวนมาก ที่ร่วมยุคสมัยกับเหตุการณ์ครั้งนั้น แม้ไม่ได้ไปร่วมในพิธี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ได้ส่งใจรำลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น อยู่เงียบๆ
เมื่อวานนี้ เป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 วันที่มีการสังหารประชาชน ที่หน้ารัฐสภา และบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อเปิดทางให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปประกอบพิธีกรรม เถลิงอำนาจ เป็นหุ่นเชิดตัวที่สองของระบบทักษิณในรัฐสภา
ภาพ ผู้คนเรือนหมื่นจากทั่วประเทศ มาร่วมพิธีไว้อาลัย ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ ประชาชนผู้กล้าหาญ ที่ต้องเสียสละชีวิตไปในวันนั้น แล้วเดินเป็นทิวแถวไปประกาศเจตนารมณ์ ที่อนุสาวรีย์ประชิปไตย ก่อนจะเคลื่อนย้ายไปร่วมงาน รำลึก 7 ตุลา 51 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คนเหล่านี้ มาจากหลากอาชีพ หลายสถานะ แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ มาเพื่อยืนยันถึงปณานร่วมกันว่า “ 7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า”
ยังมีคนอีกหลายหมื่น หลายแสนคนที่ ไม่ได้มาร่วมงานเมื่อวานนี้ แต่ได้ส่งใจรำลึก ไว้อาลัยผู้เสียชีวิต
7 ตุลา 2551 เป็นอีกวันหนึ่ง ที่เป็นวันของประชาชน ที่ได้รับการบันทึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ว่า ครั้งหนึ่ง คนธรรมดาๆ ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ ที่ไม่เป็นธรรม อย่างกล้าหาญ ไม่หวาดหวั่นต่อความตายที่กลไกรัฐหยิบยื่นให้
ขบวนแถวมหาประชาชนที่เคลื่อนไปตามถนนราชดำเนินเมื่อวานนี้ เป็นประจักษ์พยานว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยคือ การเมืองภาคประชาชน ที่มีอยู่จริง และ ยังดำรงคงอยู่ ไมได้หายไปไหน พร้อมจะปรากฏตัวสำแดงพลัง ในยามที่สถานการณ์เรียกร้อง
สามปีกว่า ของการต่อสู้แบบสันติ อหิงสา และการชุมนุมที่ยาวนานถึง 194 วัน ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ การให้การศึกษาทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดของสังคมไทย ความปรารถนาที่จะเห็นการเมืองที่ดีขึ้น ถูกหล่อหลอมรวมเข้ากับ องค์ความรู้จากเวทีของการชุมนุม และ การมีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวโดยตรงครั้งแล้วครั้งเล่า จนตกผลึกเป็นจิตสำนึกทางการเมือง ที่รู้เท่าทัน และตระหนักรู้ในความรับผิดชอบของตน
ไม่ใช่ความศรัทธาต่อผู้นำอย่างไร้เหตุผล หรือ การต่อสู้ทางชนชั้นของชนชั้นกลาง กับคนในชนบท หรือ การปะทะกันของชนชั้นนำในสังคมไทย อย่างที่มีผู้ซึ่งทำใจไม่ได้กับการเติบใหญ่ของพันธมิตรฯ พยายามอธิบายด้วยภูมิปัญญาเท่าที่มีอยู่
เมื่อพันธมิตรฯประกาศตั้ง พรรคการเมืองใหม่ มีความพยายามเสนอประเด็นว่า เป็นสิ่งที่ดี ที่พันธมิตรฯ เข้ามาต่อสู้ในระบบรัฐสภา ต่อไปในไปต้องไปสู้บนท้องถนนแล้ว
เป็นความเข้าใจที่ผิด และเหมาว่า การชุมนุมประท้วงของประชาชนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ความจริงแล้ว การตั้งพรรคการเมืองใหม่ เป็นรูปแบบการเคลื่อนไหวอีกแบบหนึ่งเท่านั้น ที่แม้แต่ในหมู่พันธมิตรเองก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย แต่การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ ไม่ได้หมายความว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาชิปไตย จะยุติบทบาทการเมืองภาคประชาชนของตนลง
ไม่เพราะเราปล่อยให้การเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองในสภาฯเท่านั้นหรือ บ้านเมืองจึงเป็นเช่นทุกวันนี้
การชุมนุมใหญ่เพื่อรำลึกวันที่ 7 ตุลาคม เมื่อวานนี้ คือ การประกาศว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตยยังคงดำรงอยู่ และเคลื่อนไหวควบคู่ไปกับ การเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่ และพร้อมที่จะแสดงบทบาทของการเมืองภาคประชาชน เพื่อตรวจสอบ คานอำนาจของการเมืองในสภาฯ ทันที เพราะว่า “ 7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า “