นายกฯ ดอดถก “กอร์ปศักดิ์” ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมปรับ ครม.ดึงรองนายกฯ เสียบแทนเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เผยนัดถกพรรคร่วมฯ แก้ รธน.เย็นนี้ พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายทำความเข้าใจกับประชาชนก่อนทำประชามติ
วันนี้ (4 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์เสร็จแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. นายอภิสิทธิ์ได้เดินทางไปยังบ้านพักของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ซอยรามคำแหง 21 แยก 3 ท่ามกลางกระแสข่าวการปรับ ครม. โดยอาจจะมีการโยกให้นายกอร์ปศักดิ์มานั่งตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทนนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ ที่ลาออกไป โดยนายอภิสิทธิ์ได้ใช้เวลาหารือกับนายกอร์ปศักดิ์ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นเวลา 12.00 น.ก็ได้ขอเวลาส่วนตัวเพื่อไปรับประทานอาหารกับครอบครัว โดยยังไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ เกี่ยวกับประเด็นที่หารือกับนายกอร์ปศักดิ์ โดยเวลา 14.00 น. นายอภิสิทธิ์เดินทางมาเยี่ยมโครงการสื่อวัยใสยุติความรุนแรงในโรงเรียน และร่วมรับฟังข้อเสนอจากเยาวชนจากประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย 5 ประเทศ ที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์
อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวก่อนพบกับนายกอร์ปศักดิ์ถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ ว่า “พรุ่งนี้ครับ” เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าจะมีการโยกให้นายกอร์ปศักดิ์มาทำหน้าที่เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแทน นายอภิสิทธิ์กล่าวย้ำว่า “ก็พรุ่งนี้ชัดเจนไงครับ” เมื่อถามถึงข่าวการปรับ ครม. นายอภิสิทธิ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามดังกล่าว เพียงแต่ยิ้มและรีบเดินเลี่ยงไปขึ้นรถออกไปทันที
นายอภิสิทธิ์ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นัดพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือและร่วมรับประทานอาหารเย็นที่บ้านพิษณุโลกในวันนี้ (4 ต.ค.) ว่า ที่ตนนัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาหารือวันนี้ก็เพื่อหารือเรื่องกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าจะเป็นอย่างไรเท่านั้น ก็ไม่มีเรื่องอื่น ซึ่งการหารือในวันนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จะคุยเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นคิดว่าคงไม่ช้า เพราะทางฝ่ายสภาบอกเองว่าขณะนี้ได้เดินหน้าแล้วในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามว่ามีการแสดงความเป็นห่วงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะทำให้หลักการที่ดีของรัฐธรรมนูญปี 2550 เสียไป นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ต้องทำวันนี้คือการให้ประชาชนตัดสิน และในช่วงการทำประชามติใครมีข้อคิดเห็นหรือข้อมูลที่จะให้กับประชาชนก็สามารถทำได้ เช่น ฝ่ายที่เห็นว่าถ้ามีการแก้ไขในมาตรานี้แล้วจะมีปัญหากระทบกับหลักการสำคัญอะไร ก็ให้ไปอธิบายกับประชาชน ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วยก็จะไม่รับร่างการแก้ไข ฝ่ายที่แก้ไขก็ต้องอธิบายว่าแก้ไขแล้วจะดีขึ้นอย่างไร
เมื่อถามว่าการหารือกับพรรคร่วมในวันนี้จะได้ข้อยุติที่ตรงกันหรือไม่ เพราะมีข่าวว่ายังมีความเห็นไม่ตรงกันหลายมาตราที่จะแก้ไข นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงไม่มีอะไร เพราะการหารือในส่วนวิป 3 ฝ่าย ก็เห็นตรงกันหมดแล้ว เมื่อถามต่อว่าในส่วนของนายกรัฐมนตรีเองก็ยังไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมในหลายประเด็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ความจริงภาระในการยกร่างแก้ไขขณะนี้ ก็เป็นหน้าที่ของสภาอยู่แล้วที่ต้องดำเนินการ หลังวิป 3 ฝ่ายมอบหมาย ส่วนขั้นตอนการทำประชามตินั้น ก็คงจะได้อธิบายในข้อกฎหมาย ข้อดี ข้อเสียในแต่ละขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า การยกร่างฯ ครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นไปตามความต้องการของนักการเมืองฝ่ายเดียวหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เขาก็คงไม่ลงมติให้แก้ไข เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ว่าในขั้นตอนการทำประชามติ จะมีการบิดเบือนไปในทำนองว่าจะเอาหรือไม่เอารัฐบาล เหมือนครั้งที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในที่สุดแล้วคนที่ตัดสินใจคือประชาชน ดังนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของประชาชน ไม่มีใครไปสรุปแทนได้ ประชาชนจะถูกถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขในประเด็นต่างๆ หรือไม่ และจะแยกถามเป็น 6 ประเด็น ซึ่งการลงคะแนนของประชาชนก็จะแยกกันลง เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าประชาชนเห็นด้วยในการแก้ไขประเด็นใด และไม่เห็นด้วยในการแก้ไขประเด็นใดบ้าง
เมื่อถามว่า ปัญหาคือการทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น จะทำได้มากน้อยแค่ไหน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตามกระบวนการการทำประชามติแล้ว ต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำความเข้าใจ ส่วนวิธีการยกร่างจะทำโดยวิธีใดนั้น คนที่ทำหน้าที่ยกร่างจะพิจารณาเองว่าจะดำเนินการในรูปแบบใด เมื่อถามว่าความเบื่อหน่ายของประชาชนจะทำให้ส่งผลต่อการออกมาลงประชามติหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คงต้องรอดูบรรยากาศในช่วงนั้น แต่ทุกฝ่ายก็ควรต้องร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์กันมากๆ ในส่วนของรัฐบาลก็จะมีการรณรงค์เช่นเดียวกัน แต่วันนี้ยังไม่ถึงเวลาดำเนินการ เพราะต้องรอให้มีการประกาศอย่างเป็นทางการก่อน จากนั้นก็จะมีแผนงานออกมา เมื่อถามว่ากฎหมายประชามติที่ยังค้างการพิจารณาของสภาจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คิดว่าคงเสร็จทันก่อนที่จะมีการทำประชามติ