xs
xsm
sm
md
lg

“วสิษฐ” แนะ ก.ต.ช.รู้จักบทบาท ย้ำไม่มีหน้าที่เสนอชื่อ ผบ.ตร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร
อดีตรอง อ.ตร.แนะให้ ก.ต.ช.ทบทวนบทบาทตัวเอง ย้ำไม่มีหน้าที่เลือก เพียงแต่จะสนับสนุนชื่อที่นายกฯ เสนอมาหรือไม่เท่านั้น ไม่กล้าฟันธงจะต้องใช้รักษาการไปอีกเท่าไร ชี้ประชุม ก.ตร.โยกย้ายโผต้องรอ ผบ.ตร.คนใหม่ก่อน ยอมรับหนีไม่พ้นถูกการเมืองแทรกแซง

วันนี้ (25 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาที่ยังไม่สามารถเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ว่า ตนทราบเท่าที่สื่อทราบ และที่ผ่านมาตนเองก็ไม่เคยเป็นคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ตนเพียงแต่เสนอความเห็นในฐานะส่วนตัวที่คุ้นเคยกับวงการตำรวจอยู่บ้างเมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ของวงการตำรวจอยากที่จะให้คำแนะนำบ้างหรือไม่ พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่ ตนเห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะฉะนั้นจึงควรจะเป็นสิทธิของนายกฯ รวมถึงอำนาจหน้าที่ด้วยที่จะเสนอตัวคนที่ท่านเห็นว่าควรที่จะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่สุด เพราะนายกฯ คือผู้บังคับบัญชา เมื่อตั้งแล้วก็ต้องดูแลต่อ ส่วนชื่อของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ตกไปหรือยังนั้น ตนไม่ทราบ เท่าที่ทราบยังไม่มีการเสนออีก สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อดีตที่ผ่านมาในวงการตำรวจไม่เคยมี แต่ดูเหมือนจะมีเพียงครั้งเดียวนานมาแล้ว และในที่สุดต้องมีการตั้งผู้รักษาการนานหลายเดือน

“ที่ผมเคยแสดงความเห็นไปแล้วก็คือ เมื่อ ก.ต.ช.ไม่มีหน้าที่ต้องเสนอใคร ก็ควรจะดูว่านายกฯ เสนอใครมา แล้วจะเอาไม่เอา แล้วควรจะให้เหตุผลว่าทำไมจึงไม่เอา ซึ่งขณะนี้ยังไม่จบ เพราะเหตุว่าครั้งแรกที่ประชุมกันไปคณะกรรมการฯ ไม่เห็นด้วย ยังไม่มีการเสนอครั้งที่ 2 เมื่อถึงตอนเสนอครั้งที่ 2 ผมก็ยังเห็นว่านายกฯ เสนอมา คณะกรรมการควรพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยควรจะบอกได้ว่าไม่เห็นด้วยเพราะอะไร แต่ขณะนี้ข่าวที่ออกมาเหมือนกับว่า ก.ต.ช.มีตัวคนอีกคนหนึ่งอยู่ ซึ่งผมเห็นว่าผิดหน้าที่คณะกรรมการฯ หน้าที่นั้นคือของนายกฯ ส่วนคณะกรรมการฯเห็นชอบหรือไม่ต้องมีเหตุผลว่า ไม่เอาคนนี้เพราะอะไร” พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าว

เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้จำเป็นต้องหาหนทางป้องกันหรือไม่นั้น อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร แต่คิดว่าเป็นเรื่องของผู้ที่เป็น ก.ต.ช.และคณะกรรมการทั้งหลายจะต้องทบทวนบทบาท และหน้าที่ของตัวเองว่า หน้าที่คืออะไร แล้วปฏิบัติตามนั้น และหากกลายเป็นว่า ก.ต.ช.ไปเสนอผู้ที่จะมาเป็น ผบ.ตร.เสียเอง ก็จะไม่สอดคล้องในทางกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะข้อเท็จจริงนายกฯ คือผู้บังคับบัญชาของ สตช. นายกฯจึงควรที่จะเป็นผู้เลือกคนที่จะมาเป็น ผบ.ตร.มากกว่า และถ้า ก.ต.ช.เอาคนอื่น แล้วใครจะเป็นผู้บังคับบัญชา ผบ.ตร.ที่ ก.ต.ช.เป็นคนตั้ง และตนอยากจะถามว่า ตกลงแล้วกฎหมายตำรวจจะให้นายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา ส.ต.ช. หรือให้ ก.ต.ช.เป็นผู้บังคับบัญชา ส่วนที่มองว่าการเมืองเข้ามาแทรกแซงในวงการตำรวจนั้นก็เป็นเรื่องที่มีมานานแล้ว

เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นอดีตนายตำรวจ มองว่าจะแก้ปัญหาการเมืองเข้าแทรกแซงวงการตำรวจได้อย่างไร เพราะปัญหาที่ตามมาอย่างเช่นการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตรงนี้นายกฯเองก็พยายามแก้ไขนั้น พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในอดีตตนเคยเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ ก็ได้เคยเสนอว่า ควรเอา ส.ต.ช.ออกจากการเมือง แล้วทอนอำนาจ ผบ.ตร.ลง แต่ก็ไปไม่รอดเพราะสภาฯหมดอายุลงก่อน เวลานี้เรื่องก็เลยค้างอยู่ ตรงนี้จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พิษของการเมือง ยังคงอยู่ในวงการตำรวจต่อไป จนกว่าจะมีการแก้ไข

เมื่อถามว่า ปัญหาเรื่องการสรรหา ผบ.ตร.คนใหม่ยังไม่ยุติ แต่ได้ลุกลามไปถึงการประชุมก.ตร.นั้น พล.ต.อ.วสิษฐ กล่าวว่า นั่นก็คืออีกปัญหาหนึ่ง เพราะถ้า ก.ตร.ออกมาอ้างแบบนั้นทุกอย่างมันก็จบความจริงทั้ง2 เรื่องและตนเห็นว่าสิ่งที่ถูกต้องเมื่อจะมี ผบ.ตร.คนใหม่ และตามหลักปฏิบัติ ทำไมไม่ให้ ผบ.ตร.คนใหม่มีส่วนในการที่จะดูคนที่จะโยกย้ายแต่งตั้งเพราะ ผบ.ตร.คนใหม่จะต้องมาเป็นผู้บังคับบัญชา ทำไมคนที่ออกไปจึงต้องมาทิ้งทวนไว้ ตนเห็นด้วยว่าควรที่จะมีผบ.ตร.คนใหม่ก่อนจึงมาเรียกประชุม ก.ตร. เพราะจะได้ไม่มีปัญหา ส่วนสิ้นเดือนนี้จะได้ตัว ผบ.ตร.คนใหม่หรือไม่ ตนไม่กล้าทำนายเพราะไม่ใช่หมอดู
กำลังโหลดความคิดเห็น