“สุริยะใส” จี้รัฐประกันความปลอดภัยเครือข่าย ปชช.ทวงเขาวิหาร ห่วงกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ซัด รบ.ละเลยปัญหาและเล่นเกมการเมืองมากจนปัญหาบานปลาย แนะเปิดเวทีให้กลุ่มผู้ชุมนุมแจงข้อเท็จจริงว่าไทยเสียอธิปไตยหรือไม่ พร้อมท้าตั้งหน่วยงานอิสระพิสูจน์ความจริง
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า รัฐบาลต้องจริงใจและให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาข้อพิพาทกรณีเขาวิหารที่กำลังมีการเผชิญหน้าของประชาชนในพื้นที่กับเครือข่ายประชาชนทวงคืนเขาวิหาร เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหละหลวมและไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงของปัญหา จนปล่อยให้มีการเผชิญหน้าเกิดขึ้น โดยสถานการณ์ความรุนแรงทางขึ้นบนเขาพระวิหาร สะท้อนชัดเจนว่า นอกจากรัฐบาลจะละเลยแล้วยังปล่อยให้กลุ่มการเมืองทั้งในระดับชาติและกลุ่มการเมืองท้องถิ่น คบคิดกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และฝ่ายปกครอง จัดตั้งและปลุกระดมชาวบ้านในพื้นที่ให้มาใช้ความรุนแรงสกัดการเดินทางของกลุ่มประชาชนที่ไปทวงคืนเขาวิหาร
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการยุติความรุนแรงและป้องกันปัญหาบานปลาย โดยต้องระมัดระวังไม่ให้กลุ่มมวลชนจัดตั้งลอบทำร้ายประชาชนที่ไปชุมนุมกันอย่างสันติ และเครือข่ายประชาชนทวงเขาวิหารถือว่าไปทำหน้าที่ในฐานะพลเมืองตามรัฐธรรมนูญเพื่อปกป้องอธิปไตยของประเทศ จึงไม่สมควรที่จะถูกต่อต้านหรือถูกขัดขวาง ด้วยความรุนแรงจากกลุ่มใดทั้งสิ้น และควรได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลมากกว่านี้
อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าชาวบ้านในพื้นที่อาจจะยังไม่มีข้อมูลและไม่ทราบข้อเท็จจริงของปัญหา เพราะกลไกรัฐบิดเบือนข้อเท็จจริงตลอดเวลา มิหนำซ้ำยังปลุกระดมชาวบ้านให้มาเผชิญหน้ากับเครือข่ายประชาชนฯ สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่มองทุกอย่างเป็นเกมการเมืองมากเกินไป
นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า ต่อจากนี้รัฐบาลจะต้องประกันเรื่องความปลอดภัย หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับเครือข่ายประชาชนทวงเขาวิหารขึ้นอีก ก็เท่ากับว่ารัฐบาลชุดนี้ใช้กลวิธีแบ่งแยกแล้วปกครอง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์บานปลายและอาจกลายเป็นนำผึ้งหยดเดียวได้
สำหรับข้อพิพาทกรณีเขาวิหารถ้ารัฐบาลให้ความสำคัญและใส่ใจต่อปัญหามากกว่าที่ผ่านมาก็จะสามารถหาทางออกได้ โดยรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้เครือข่ายประชาชนได้มีเวทีชี้แจงกับสาธารณะถึงข้อเท็จจริงของปัญหาที่มีข้อมูลต่างกับรัฐบาล เพราะมีการพบว่าชาวกัมพูชาได้รุกล้ำบริเวณพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ของประเทศไทยจริง และถ้ารัฐบาลเห็นต่างก็สามารถจัดให้หน่วยงานอิสระ เช่น มหาวิทยาลัย นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ สื่อมวลชน และองค์กรต่างลงไปสำรวจข้อเท็จจริงในพื้นที่ และหากพบว่ามีการบุกรุกจริง รัฐบาลก็ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนว่า จะผลักดันชาวกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่ได้อย่างไร