นายกฯ ประชุมบอร์ด สสส. เฝ้าระวังมาตรการไข้หวัด 2009 พบ 10 จังหวัดยอดระบาดสูงสุด เล็งวางมาตรการป้องกันการระบาดรอบ 2 รองรับช่วงเด็ก 12 ล้านคนปิดภาคเรียน พร้อมทั้งจัดหามาตรการป้องกันระยะยาวรับมือ ทำการวิจัยภูมิคุ้มกันโรคควบคู่ไปกับการเร่งผลิตยาต้านไวรัส
วันนี้ (18 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ครั้งที่ 9/2552 ณ ห้องประชุม 501 ชั้น 5 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระการสรรหาผู้จัดการกองทุนสสส.คนใหม่ แทนนพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนสสส. ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 หลังจากได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวาระที่ 2 ซึ่งตามข้อบังคับกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพว่าด้วยการบริหารงาน บุคคล พ.ศ. 2547 กำหนดให้คณะกรรมการกองทุนแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา เพื่อดำเนินการสรรหาผู้จัดการกองทุนคนใหม่ และเสนอให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาแต่งตั้ง ก่อนผู้จัดการกองทุนจะหมดวาระลงไม่น้อยกว่า 90 วัน
ขณะที่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ประธานกรรมการสรรหาผู้จัดการกองทุน กล่าวว่า คณะกรรมการสรรหาผู้จัดการกองทุนสสส. ได้รายงานผลการสรรหาให้กับคณะกรรมการกองทุนพิจารณาโดยได้ดำเนินการสรรหาตาม หลักเกณฑ์ของข้อบังคับกองทุนสสส.ทุกประการ ด้วยการประกาศรับสมัครผ่านทางหนังสือพิมพ์และทางเว็บไซด์ ซึ่งพบว่ามีผู้สมัครเข้ามาจำนวน 6 คน และผู้ได้รับการเสนอชื่อจากหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 3 คน รวมเป็น 9 คน ซึ่งจากการตรวจสอบคุณสมบัติพบว่า ล้วนเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีคุณสมบัติที่ดี จึงได้นัดหมายให้ผู้สมัครทั้ง 9 คน มาแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 11- 12 กันยายนที่ผ่านมา แต่พบว่ามีผู้สมัคร 2 คน ไม่สามารถมาได้ จึงใช้วิธีสัมภาษณ์และให้แสดงวิสัยทัศน์ทางโทรศัพท์ภายหลัง จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯได้ประชุมและลงคะแนนทางลับ พบว่า คณะกรรมการสรรหาฯมีมติเป็นเอกฉันท์ทั้ง 7 คน ลงคะแนนให้กับทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสสส. เป็นผู้จัดการกองทุนคนใหม่ จึงเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนสสส.พิจารณา ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบตามรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาฯเสนอ
ทั้งนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานคณะอนุกรรมการฯ สสส. ได้นำเสนอมาตรการป้องกันการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ต่อที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินมาตรการในระยะเร่งด่วนและวางแผนในระยะยาว ซึ่งมาตรการระยะเร่งด่วนได้ดำเนินการสื่อสารเชิงรุกโดยร่วมกับหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในแต่ละกลุ่มอย่างตรงจุด ส่วนมาตรการในระยะยาวได้โดยมอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการวิจัย เรื่องการมีภูมิต้านทานของคนไทย การเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรมและการดื้อยา , สนับสนุนการวิจัยวัคซีนเพื่อเร่งกระบวนการผลิตวัคซีน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล , การพัฒนาระบบ National surveillance system และการทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกเพื่อทบทวนสถานการณ์ระดับนานาชาติ
“สถานการณ์การ แพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แม้ว่าจะสามารถลดการแพร่ระบาดในเบื้องต้นได้ระดับหนึ่ง แต่ต้องระมัดระวังการแพร่ระบาดรอบที่ 2 ในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่คาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งตรงกับช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียน และอยู่ในช่วงเทศกาลต่างๆ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯจะเร่งปูพื้นการป้องกันก่อนการแพร่ระบาดในรอบที่ 2 เพราะหากมีการปรับพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยได้ดี จะเป็นการป้องกันได้ในระยะยาว” นพ.มงคล กล่าว
ด้าน นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ คณะอนุกรรมการฯ สสส. กล่าวว่า การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ขณะนี้เหลือ 98 อำเภอที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย ซึ่งเป็นอำเภอที่ติดชายแดนเข้าถึงลำบาก แต่พบว่ามี 10 จังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ นนทบุรี ภูเก็ต สุโขทัย หนองบัวลำพู ร้อยเอ็ด ยโสธร และนครนายก โดยในช่วงที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ จำนวน 5.7 ล้านคน ซึ่งในจำนวนผู้ป่วย 1 แสน จะพบผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 3 คน
“ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงการแพร่ระบาดรอบ 2 ที่มีอันตราย เพราะตั้งแต่ปลายกันยายน จะมีเหตุการณ์สำคัญคือ ช่วงวันออกพรรษาที่มีกลุ่มโรงงานทอดกฐิน โรงเรียนปิดเทอม โดยมีเด็กจำนวน 12 ล้านคนที่กระจายตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งหากปล่อยไว้จะเป็นสภาพการระบาดเหมือนเดือนมิถุนายน รวม ถึงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ ซึ่งการควบคุมโรคที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ โดยความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่การระบาดในรอบ 2 จะต้องมีมาตรการเฉพาะเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยเฉพาะแหล่งที่เกิดตามร้านเกม โรงเรียนกวดวิชา สถานที่เฉลิมฉลองต่างๆ”น.พ.คำนวณ กล่าว