รมช.คมนาคม เผยยังไม่ได้เสนอชื่อ ปลัดกระทรวงเข้า ครม. อ้าง “ซาเล้ง” ยังไม่ได้ส่งเรื่องเข้า ยันนายกฯ ไม่ได้เตะถ่วง ระบุเป็นเอกสิทธิ์ ส.ส.ของพรรคร่วมลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญ มั่นใจหาก ปชป.ไม่ร่วมลงชื่อเสนอญัตติจะไม่เกิดปัญหาระหว่างพรรคร่วม
วันนี้ (8 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งปลัดกระทรวงคมนาคมว่าในการประชุมวันนี้กระทรวงคมนาคมไม่ได้ส่งเรื่องเพื่อบรรจุเข้าเป็นวาระเนื่องจากนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ยังไม่ได้ส่งเรื่องเข้ามา ส่วนกระแสข่าวที่ว่าจะเข้ามาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ก่อน แต่ขณะนี้กลับไม่มีการส่งเรื่องเข้ามานั้น ตนไม่ทราบถึงสาเหตุ ทั้งนี้ ยืนยันว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ทำการเตะถ่วง อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าจะมีในวาระจรก็เป็นไปได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.ในพรรคภูมิใจไทย ร่วมลงชื่อใน 158 คนของ ส.ส.-ส.ว.ที่เสนอต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อให้แก้รัฐธรรมนูญ นายประจักษ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของ ส.ส.แต่ละคนที่สามารถทำได้ ส่วนกรณีที่รัฐบาลระบุว่าหาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมลงชื่อก็จะทำให้ญัตติตกไปนั้นก็เป็นไปได้ แต่คงไม่มีปัญหาเพราะพรรคภูมิใจไทยมีหลักการเป็นของตัวเองที่จะเสนอในส่วนของพรรคว่าจะแก้ไขอย่างไร ถ้าเห็นร่วมกันก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิที่จะไม่ร่วม แต่ทั้งนี้ไม่ต้องการให้เป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
เมื่อถามว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ลงชื่อนั้นจะเป็นการส่งสัญญาณอะไรหรือไม่ นายประจักษ์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในส่วนของพรรคร่วมไม่มีปัญหา การร่วมกันบริหารประเทศไม่มีปัญหา พรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ไม่มีปัญหา
เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะแก้ทั้ง 6 ประเด็นหรือเฉพาะ 2 ประเด็น นายประจักษ์กล่าวว่าต้องฟังความคิดเห็นส่วนใหญ่อาจจะแก้ทั้ง 6 ประเด็นหรือมากกว่า หรือเพียง 2 ประเด็นก็ได้ ส่วนกรณีที่นายกฯ ออกมาระบุว่าจะมีการประชุมร่วมแสดงให้เห็นว่าพรรคร่วมเห็นร่วมกันแล้วหรือไม่นั้น นายประจักษ์กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะเปิดประชุมร่วม ซึ่งก็เห็นด้วย และทราบว่าจะเป็นภายในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้จะเป็นการลดแรงกดดันของกลุ่มพันธมิตรฯ และคนเสื้อแดงได้หรือไม่ไม่ทราบ เพราะแท้ที่จริงแล้วสองกลุ่มนี้ต้องการอะไรเพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้เกิดกลุ่มความขัดแย้งขึ้นในสังคม แต่หากจะมีความเคลื่อนไหวคัดค้านก็เป็นเรื่องปกติ