กรรมการสอบทุจริตชุมชนพอเพียง เผย “กอร์ปศักดิ์” คุมเข้มนโยบายชุมชนพอเพียง ห้ามอนุมัติโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ฉาว สั่งให้ตรวจสอบความคุ้มค่าก่อน พร้อมประสานสำนักงบฯ ส่งราคากลางสินค้ายอดนิยมให้ชุมชน ยันยอดเงิน 5.3 พันล้าน มีปัญหาแค่ 50 ล้าน
วันนี้ (17 ส.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการชุมชนพอเพียง เปิดเผยว่า จากข่าวการทุจริตที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียง ได้กำหนดนโยบายเพื่อให้มีการตรวจสอบโครงการดังกล่าวอย่างระเอียดรวมทั้งเยียวยา และสะสางโครงการเพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการต่อไปได้ คือ 1.ให้ระงับการอนุมัติโครงการประเภทที่ใช้สินค้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด เนื่องจากพบว่าปัจจุบันยังมีผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวเป็นจำนวนน้อยราย ทำให้ไม่มีการแข่งขันกันอย่างแท้จริง 2.ให้สอบถามชุมชนที่ได้รับงบประมาณแล้วไปดำเนินการจัดซื้อสินค้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดทั่วประเทศจำนวน 170 ชุมชน รวมเป็นเงิน 50 ล้านบาท ว่ายังมีความต้องการเช่นเดิมอยู่หรือไม่ หรือต้องการให้สำนักงานเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (สพช.) เข้าไปแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลืออย่างไร
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า 3.สนับสนุนด้านข้อมูล ราคา ให้กับชุมชนทั่วประเทศเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยสำนักงานได้ขอให้สำนักงบประมาณจัดส่งราคากลางของสินค้า ที่ชุมชนนิยมซื้อมากที่สุดกว่า 20 รายการ และจัดส่งราคาของสินค้าต่างๆเหล่านั้นให้กับชุมชนทั่วประเทศทันที 4.จัดให้มีเบอร์โทรศัพท์สายตรง รับร้องเรียน 0-2629-8444 และ 0-2629-8555 และ 5.ขอความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่กองปราบปรามจัดส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบตามคำร้องทุกข์ที่ได้แจ้งไว้เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมที่ผ่านมา ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและนอกสำนักงาน เพื่อหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็ว ทั้งนี้ ชุมชนที่มีความเข้มแข็ง มีความพร้อม และเสนอโครงการถูกต้อง ก็ให้ดำเนินการส่งคำขอโครงการมายังคณะกรรมการบริหารโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อพิจารณาต่อไป
“หลังเปิดตัวโครงการชุมชนพอเพียงไปตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ขณะนี้มีชุมชน 66,000 ชุมชนที่ยื่นเสนอโครงการมายัง สพช. แต่มีโครงการที่ผ่านการอนุมัติเพียง 31,000 ชุมชน และได้โอนเงินให้แก่ชุมชนแล้ว 21,000 ชุมชน เป็นเงินประมาณ 5,300 ล้านบาท ทั้งนี้ สาเหตุของการอนุมัติงบฯล่าช้า เกิดจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้ตรวจสอบพบความผิดในการจัดทำโครงการ จึงได้ชะลอการนำเสนออนุมัติงบฯ โดยโครงการฯ ที่อาจมีปัญหาเป็นวงเงินเพียง 50 ล้านบาท จากทั้งหมด 5,300 ล้านบาท” นายอรรถวิชช์ กล่าว