xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.จี้รัฐเปิดโครงสร้างต้นทุนน้ำมัน ชี้อย่าเพิ่มภาระให้ ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.
“รสนา” แถลงหลังสัมมนากรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเสริมสร้างธรรมาภิบาล จี้รัฐเปิดเผยโครงสร้างต้นทุนผลิตน้ำมัน ย้ำ อย่าอิงตามตลาดสิงค์โปร์ทำราคาแพงเกินเหตุ ชี้ ควรเลิกเก็บภาษีเข้ากองทุน ปล่อยราคาตามตลาดโลก

วันนี้ (30 ก.ค.) รัฐสภา ว่า เมื่อเวลา 10.00 น.คณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการมีการสัมมนา เรื่อง “ราคาน้ำมัน รัฐบาลจะสร้างความเป็นธรรมได้อย่างไร
โดย น.ส.รสนา แถลงหลังการสัมมนา ว่า จากการระดมความเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องทางคณะกรรมาธิการ มีข้อเสนอ 4 ข้อ คือ 1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนการขึ้นภาษีสรรพามิตน้ำมัน จำนวน 2 บาท เพราะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชน 2.ขอให้รัฐบาลทบทวนและปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในประเทศที่ปัจจุบันอิงราคาน้ำมันกับประเทศสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม เนื่องจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ราคา 22 บาท ขณะที่ราคาที่ส่งไปขายยังประเทศสิงคโปร์ ราคาเพียง 18 บาท ทำให้คนไทยต้องใช้น้ำมันที่มีราคาแพงกว่าต่างชาติ หากคำนวณว่าคนไทยใช้น้ำมันปีละ 40,000 ล้านบาท ก็เท่ากับว่า ประชาชนจะต้องเสียเงินที่เป็นส่วนต่างถึงปีละ 1.6 แสนล้านบาท ดังนั้น ต้องกำหนดโครงสร้างให้มีความเป็นธรรม

3.ขอให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลโครงสร้างต้นทุนการผลิตน้ำมัน เช่น ต้นทุนน้ำมันดิบ ค่าโสหุ้ยต่างๆ และค่าบริการกลั่นน้ำมันเป็นรายวัน เช่นเดียวกับข้อมูลโครงสร้างน้ำมันอื่นๆ ที่ได้เปิดเผยในปัจจุบัน เช่น ภาษีสรรพสามิต ค่าการตลาด 4.รัฐบาลควรกำหนดค่าการตลาด และค่าการกลั่นที่เหมาะสมและเป็นธรรมของทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต

น.ส.รสนา กล่าวต่อว่า การบริหารเงินในกองทุนน้ำมัน ทาง กมธ.เห็นว่า ควรจะยกเลิกการเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนน้ำมัน โดยปล่อยให้ราคาน้ำมันปล่อยตัวตามตลาดโลก แต่รัฐต้องไม่ปล่อยให้เกิดการผูกขาด โดยบริษัทใดบริษัทเดียว เช่นเดียวกับที่ ปตท.ไปเป็นผู้ถือหุ้นในโรงกลั่น 5 ใน 6 แห่ง เป็นการครอบงำ และทำลายการแข่งขันในตลาด ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูล เพียงแต่แจ้งว่าเป็นหนี้จากการใช้เงินไปอุ้มราคานำเข้าแก๊สแอลพีจี ซึงส่วนใหญ่ผู้ที่ได้รับประโยชน์ คือ โรงงานอุตสาหกรรมไม่ใช่ประชาชน ดังนั้น ควรจะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

“กมธ.พบว่า นโยบายด้านพลังงานมีผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ทุกวันนี้เอกชนแสวงหาประโยชน์ได้มากกว่าความเป็นจริง เนื่องจากมีข้าราชการเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดอยู่ในบริษัทเอกชนที่มีผลตอบแทนที่สูงมาก ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน จนข้าราชการถูกผลประโยชน์ครอบงำ
กำลังโหลดความคิดเห็น