“ไตรรงค์” ไม่เห็นด้วยกับ กกต.ฟัน 13 ปชป.ถือหุ้น โทษคนร่างกฎหมายไม่ชัดเจน ทำให้ตีความต่างกัน ชี้ ถือเป็นบทเรียนของนักกฎหมาย ที่ต้องเขียนกฎหมายให้ชัด อย่าให้มีปัญหาการตีความภายหลัง รอศาล รธน.ชี้ขาด ยอมรับคำวินิจฉัย ลั่น พร้อมลงเลือกตั้งใหม่
วันนี้ (16 ก.ค.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งถูก กกต.ลงมติให้ขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส.เช่นกัน ว่า ผลออกมาเป็นเช่นนี้ก็ไม่เป็นไร ซึ่งตนก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ กกต.อยู่แล้ว เนื่องจากในรัฐธรรมนูญ มาตรา 269 วรรคหนึ่ง ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป แต่ในมาตรา 265 เกี่ยวกับคุณสมบัติของ ส.ส.และ ส.ว.โดยในวรรคที่สอง ระบุว่า ส.ส.หรือ ส.ว.ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งในมาตราดังกล่าว ไม่ได้มีคำว่าไม่คงไว้ในการถือหุ้น จึงถือว่ามีความแตกต่างกัน เพราะสามารถถือหุ้นได้โดยไม่ต้องขาย แต่ห้ามซื้อหุ้นเพิ่มเท่านั้น ซึ่ง กกต.ก็มีความเห็นต่างจากคนอื่นในกรณีนี้
“จากนี้ไปคงต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด ว่า จะมีคำวินิจฉัยอย่างไร เป็นหุ้นเสรี หุ้นผูกขาด หรือไม่ผูกขาด แม้ว่า กกต.จะมีมติออกมาอย่างไรก็ไม่ต้องเชื่อ เพราะเป็นแค่คนไม่กี่คน ที่เขาอาจจะไม่ได้มีความรู้เรื่องหุ้น หรือตีความกฎหมายแตกต่างออกไป เรื่องนี้จึงถือเป็นบทเรียนว่าคนร่างกฎหมายควรจะเขียนกฎหมายให้ชัด อย่าให้เป็นปัญหาในการตีความในภายหลัง” นายไตรรงค์ กล่าว
นายไตรรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อ กกต.มีมติออกมาเช่นนี้ ก็คงไม่มีผลอะไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาก็เท่านั้น และหากมีคำวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ตนซึ่งเป็น ส.ส.สัดส่วน ก็ต้องพ้นสภาพขาดจากการเป็น ส.ส.และ ส.ส.สัดส่วน ที่มีคะแนนรองลงมาก็ต้องเลื่อนขึ้นมาแทนที่ตน ทั้งนี้ ในอนาคตเมื่อมีการเลือกตั้งตนก็พร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่