ประธานวิปรัฐบาลมั่นใจวุฒิสภาไม่ผ่าน พ.ร.ก.สรรพสามิตไม่กระทบเสถียรภาพ ชี้เป็นปกติของความเห็นที่แตกต่าง เล็งใช้เสียง ส.ส.เกินครึ่งเสนอต่อ ยันไม่มีผลหลังฝ่ายบริหารเสนอออก พ.ร.ก.ไปแล้ว ปัดไม่เกี่ยวคว่ำ พ.ร.ก.กู้เงินด้วย เร่งทำความเข้าใจวอนช่วยผ่านเงินกู้
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่รัฐสภา นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์ภายหลังวุฒิสภาคว่ำ พ.ร.ก.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ว่า ถือเป็นสิทธิของแต่และสภา ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้วุฒิสภาเป็นสภากลั่นกรอง ซึ่งก็ต้องเคารพความคิดเห็นแต่ละฝ่าย แต่อย่างไรก็ตามมาตรา 184 ระบุว่าหากวุฒิสภาไม่อนุมัติสภาผู้แทนราษฎร์สามารถยืนยันอนุมัติด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวก็มีผลบังคับใช้ไปแล้วตามอำนาจของรัฐบาล จึงไม่มีผลอะไร ดังนั้น ครม.สามารถนำ พ.ร.บ.ดังกล่าวมายืนยันในสมัยการประชุมสภานิติบัญญัติได้ แต่ถ้ารัฐบาลเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนจำเป็นก็สามารถขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ โดยส่วนตัวเห็นว่า พ.ร.ก.ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และมีผลโดยตรงต่อการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนลดน้ำมันและใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
เมื่อถามว่า ถือว่ารัฐบาลเสียหน้าหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติตามกลไกของรัฐสภา ซึ่งแต่ละสภาก็ต้องเคารพสิทธิในการทำหน้าที่ไม่ใช่เรื่องการเสียหน้า และสภาก็สามารถใช้เสียงข้างมากยืนยันกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายบริหาร แต่เป็นภาระของสภา แต่หากสภาไม่ยืนยัน พ.ร.ก.ดังกล่าวถือว่าไม่มีผล เพราะฝ่ายบริหารได้ประกาศใช้เป็น พ.ร.ก.ไปแล้ว
เมื่อถามว่า กังวลหรือไม่หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบกับ พ.ร.ก.และร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจอีก นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ ครม.ต้องทำความเข้าใจกับวุฒิสภา และเชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจกับวุฒิสภาได้ และร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าววุฒิสภาก็สามารถตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาได้ จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และคิดว่าวุฒิสภาจะให้ความร่วมมือผ่านทั้ง 2 ฉบับเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลได้ประเมินหรือไม่ หากไม่รีบนำ พ.ร.ก.สรรพสามิตนำเข้าสภาอาจจะกระทบต่อเสถียรภาพ เพราะ กกต.ได้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการถือหุ้นสัมปทานของรัฐของ ส.ส.และ ส.ว. นายชินวรณ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็นสองส่วน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการถือหุ้นขัดรัฐธรรมนูญและเพิกถอนสิทธิก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคที่ต้องเตรียมการเลือกตั้ง ส่วนการยืนยัน พ.ร.ก.ดังกล่าวก็ใช้เกินกึ่งหนึ่งของเสียง ส.ส.เท่าที่มีอยู่ ไม่ใช่เสียงของ ส.ส.ทั้งหมด จึงเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาล