ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกองทุน กบข.ทั้งในเรื่องการบริหารขาดทุนจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง รวมทั้งล่าสุดในกรณีผู้บริหารมีพฤติกรรมส่อไปในทางขัดธรรมาภิบาล ขัดจริยธรรม ส่วนหนึ่งหากมองกันในแบบที่ไม่ซับซ้อนก็น่าจะมาจากความโลภ มุ่งประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่หรือไม่
รายงานข่าวที่ปรากฏออกมาทางสื่อตรงกันว่า วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ใช้ข้อมูล “ภายใน” หรือในวงการเรียกว่า “ข้อมูลอินไซต์” ซื้อขายหุ้นในลักษณะแสวงหากำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง
กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายผิดหลักธรรมาภิบาล ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรซึ่งทำหน้าที่ดูแลกองทุนที่มีข้าราชการทั่วประเทศนับล้านคนเป็นสมาชิก ไปหาผลประโยชน์หรือไปแสวงหากำไรส่วนตัว
ข้อมูลในลักษณะมิชอบดังกล่าวเริ่มหลั่งไหลออกมามากขึ้นเรื่อยๆ ในทำนอง “น้ำ ลดตอผุด” เพราะหากย้อนกลับไปไม่นานนัก คือเมื่อประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เองมีข้าราชการกลุ่มหนึ่งร้องเรียนให้ตรวจสอบ กบข. เนื่องจากสงสัยว่ามีผู้บริหารมีพฤติกรรมลักษณะไม่โปร่งใสจนทำให้สมาชิกเสียประโยชน์
จากการตรวจสอบยังพบว่า กบข.ขาดทุนจากการไปลงทุนในตลาดหุ้นไม่น้อยกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่เกิดจากการลงทุนในหุ้นบริษัทของกลุ่มอำนาจเก่า ประเภท “ขาใหญ่” ในตลาดไม่ว่า กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์(QH) ของกลุ่มอัศวโภคิน และบริษัทยานภัณฑ์(YNP) ของ วิชัย ทองแตง อดีตทนายความประจำตัวของ “เสี่ยแม้ว”
การตรวจสอบ “วงใน” ยังพบอีกว่า กบข.ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ตั้งแต่ปี 2550 แต่จากนั้นถัดมาในปี 2551 มูลค่าหุ้นได้ลดลง แต่กลับลงทุนเพิ่มขึ้นไปอีก
นอกเหนือจากนี้ หุ้นในกลุ่มบริษัทยานภัณฑ์ถูก “ขึ้นบัญชีดำ” จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ว่าเป็น “หุ้นปั่น” ก็ยังเข้าไปช้อนซื้อเพิ่มอีก
ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ(ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม ได้รับการร้องเรียนและเข้าไปตรวจสอบก็พบความผิดปกติโดยได้สรุปผลออกมาในเบื้องต้นแล้ว
อย่างไรก็ดีเมื่อยิ่งสาวก็ยิ่งโยงใย ยิ่งพบความไม่ชอบมาพากลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดยังเจอข้อมูลอัปยศอีกว่าผู้บริหารคนเดียวกันได้เข้าไปซื้อขายหุ้นเพื่อหากำไร โดยเฉพาะหุ้นหลักๆในกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หรือ PTT นอกเหนือจากหุ้นในกลุ่มแบล็กลิสต์ดังกล่าวข้างต้นที่มีลักษณะ “การปั่น” อยู่ก่อนแล้ว
เป็นการซื้อขายในลักษณะ “ดักหน้า-ดักหลัง”
หากอธิบายให้เห็นภาพก็คือในเมื่อตัวเองเป็นผู้บริหารของกองทุน กบข.ที่มีสินทรัพย์รวมมูลค่าเกือบ 4 แสนล้านบาท ถือเป็นกองทุนที่ใหญ่โตและนำตลาด และใช้ข้อมูล “ภายใน” ที่ตัวเองรู้ว่า กบข.จะไปซื้อหุ้นของ ปตท.ก็จะไปซื้อดักหน้าเอาไว้ก่อน จากนั้นเมื่อ กบข.ไปซื้อก็ทำให้มูลค่าหุ้นของ ปตท.สูงขึ้น ตนเองที่ถือหุ้นดังกล่าวในนามส่วนตัวเอาไว้ล่วงหน้าก็เทขายเพื่อทำกำไร
ที่สำคัญพฤติกรรมในลักษณะข้างต้นยังเข้าลักษณะฝ่าฝืนจริยธรรม ละเมิดหลักธรรมาภิบาล หรือกฎเกณฑ์ที่ตัวเองได้ร่างและตั้งเป็นกฎข้อห้ามพนักงานทุกคนเอาไว้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ 2546 มีเจตนาเอาไว้สวยหรูกำหนดเป็นหลักจรรยาบรรณให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันการซื้อขายหุ้นในลักษณะที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ผลก็ออกมาในลักษณะตรงกันข้าม
ส่วนข้ออ้างที่พยายามอธิบายถึงลักษณะการทำงานของ กบข.ว่าในการลงทุนจะแบ่งเงินออกเป็นกองๆแล้วให้ผู้บริหารกองทุนแต่ละกองทุนแยกกันบริหารและแยกกันลงทุน ซึ่งตัวเลขาธิการไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ข้อมูลนั้น อยากถามด้วยตรรกะพื้นๆว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่
และเป็นไปได้หรือไม่ว่าระดับเลขาธิการกองทุนไม่มีส่วนรับรู้ข้อมูล หรือไม่มีการรายงานความเคลื่อนไหวให้ให้ที่ประชุมได้ทราบเลย
ทุกอย่างมืดแปดด้านไปหมดกระนั้นหรือ !!
ดังนั้นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับกองทุน กบข.ทั้งในเรื่องการบริหารขาดทุนจากการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง รวมทั้งล่าสุดในกรณีผู้บริหารมีพฤติกรรมส่อไปในทางขัดธรรมาภิบาล ขัดจริยธรรม ส่วนหนึ่งหากมองกันในแบบที่ไม่ซับซ้อนก็น่าจะมาจากความโลภ มุ่งประโยชน์ส่วนตัวเป็นใหญ่หรือไม่
ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งก็เป็นผลพวงมาจาก “ระบอบทักษิณ” และระบอบทุนอันสามานย์ และพฤติกรรมในลักษณะที่เกิดขึ้นก็น่าจะมาจากสาเหตุสำคัญที่คิดว่าระบอบทักษิณไม่มีวันพังทลายจึงได้กล้ากระทำเหิมเกริมอย่างไม่เกรงกลัว
และกรณีของ เลขาธิการ กบข.เมื่อผลการตรวจสอบออกมาในลักษณะเข้าข่ายความผิดบบนี้ ก็ต้องสมควรยุติการ บริหาร ชั่วคราว หรือไม่เช่นนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะเป็นต้นสังกัดก็ต้องออกคำสั่งโดยเร็ว
ไม่ใช่ปล่อยให้ลอยนวลแบบนี้ !!