“อภิสิทธิ์” เป็นประธานเปิดงานเทิดพระเกียรติ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงได้รับรางวัลจากองค์การสหประชาชาติ ด้านสิทธิมนุษยชนในฐานะ “เจ้าหญิงนักกฎหมาย” ที่ทรงให้ความสำคัญกับความรุนแรงในสตรีและเด็ก ยันพร้อมสนองพระราชดำริสานต่อโครงการผู้ต้องขังหญิง หวังยกระดับเป็นมาตรฐานสากล พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมชมงานตั้งแต่ 7-10 พ.ค.นี้ ที่เซ็นทรัลเวิด์ล ชั้น 1
วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานเทิดพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในวโรกาสที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากสหประชาชาติ โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ข้าราชการ ดารา ให้การต้อนรับ และมีประชาชนเข้าร่วมชมงานกว่า 100 คน
โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวเปิดงานว่า ในโอกาสที่องค์การสหประชาชาติได้ถวายรางวัลเกียรติยศสูงสุด Medal of Recognition ด้านสิทธิมนุษยชน แด่พระเจ้าหลานเธอฯ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เจ้าหญิงนักกฎหมายของปวงชนชาวไทย มีพระจริยวัตรงดงาม พระปรีชาสามารถยอดเยี่ยม ทรงสนพระทัยเรื่องกฎหมายและบทบาทของกฎหมายในการแก้ปัญหาสังคมมาโดยตลอด พระเจ้าหลานเธอฯ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา จึงทรงเลือกเข้ารับการศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกสาขานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังทรงสำเร็จการศึกษาเป็นเนติบัณฑิตจากสำนักกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาไทยด้วย เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาทรงเริ่มปฏิบัติราชการเป็นนายทหารรัฐธรรมนูญ กรมรัฐธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม ต่อมาเมื่อจบปริญญาเอกแล้วได้ทรงปฏิบัติงานชุดคณะทูตแห่งประเทศไทย ประจำองค์การสหประชาชาติและนครนิวยอร์ก ในฐานะนักการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2548-2549
นอกจากนี้ยังทรงเพิ่มพูนบทบาทและเกียรติภูมิของประเทศไทย โดยทรงเป็นผู้นำในการเสนอข้อมติให้องค์การสหประชาชาติสนับสนุนทางวิชาการแก่การพัฒนาระบบยุติธรรม และการป้องกันอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ได้ประทานข้อคิดเห็นและข้อสังเกตในประเด็นด้านการต่างประเทศที่สำคัญให้กระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณากำหนดท่าทีของประเทศไทยในเวทีโลก ทรงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเลขาธิการขององค์การสหประชาชาติและเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆเป็นประจำ เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ทรงนำประเทศไทยสู่เวทีสากล และทรงส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในแวดวงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อกลับประเทศไทยหลังจากทรงศึกษาสำเร็จแล้วได้ทรงเลือกปฏิบัติราชการในฐานะพนักงานอัยการ จ.อุดรธานี แทนที่จะทรงงานในกรุงเทพฯ โดยมีพระประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนทุกระดับ ซึ่งแสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะในการทรงงาน และทรงมีพระเมตตากรุณาต่อประชาชนชาวไทยในภูมิภาคที่ห่างไกลความเจริญ อีกทั้งทรงมีพระเมตตาอนุเคราะห์ผู้ต้องขังหญิง และเด็กทารกที่มารดาคลอดในเรือนจำ ซึ่งทรงถือเป็นผู้บริสุทธิ์ เนื่องจากทรงได้รับแรงบันดาลใจจากการไปเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงระหว่างทรงศึกษาในระดับปริญญาตรี และประสบการณ์ระหว่างทรงงานในฐานะพนักงานอัยการ ซึ่งทรงพบว่าผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังได้รับการดูแลจากรัฐอย่างจำกัด อีกทั้งทรงพบว่าข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในเรือนจำที่ใช้อยู่ทั่วโลกนั้นล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากจัดทำขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2498 จึงมีพระดำริริเริ่มโครงการกำลังใจเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขัง ตามมาตรฐานองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง Enhancing Lives of Female Inmates หรือ ELFI โดยได้รับพระกรุณาธิคุณทรงมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมถวายงานในเรื่องนี้ ปรากฏว่าโครงการนี้ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ผลแห่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์และสายพระเนตรอันยาวไกล รวมทั้งทรงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำองค์การสหประชาชาติและผู้เชี่ยวชาญจากชาวต่างประเทศ
โครงการกำลังใจเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กติดผู้ต้องขังไม่เพียงแต่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศไทยเท่านั้น แต่ส่งผลในทางปฏิบัติแก่เรือนจำหญิงทั่วโลกได้รับการพัฒนายกระดับให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน พระปรีชาสามารถของพระองค์ยังมีอีกนานับประการ ที่สำคัญได้แก่โครงการต่อต้านความรุนแรงกับผู้หญิงและเด็ก ในฐานะที่รับเป็นทูตสันตวไมตรี ของกองทุนเพื่อการพัฒนาสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติปีที่ผ่านมา ทำให้สังคมไทยมีความหวัง พลังที่เข้มแข็งในการต่อต้านขจัดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก
พระกรณียกิจของพระองค์ดังกล่าวได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลก ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ ว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรม หรือ UNODC จึงถวายรางวัลเชิดชูเกียรติยศสูงสุด MEdel of Recognition แด่พระเจ้าหลานเธอฯ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ของโลก
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ในนามรัฐบาล และปวงชนชาวไทยทุกคน จึงขอประทานพระราชอนุญาตจัดงานเทิดพระเกียรติในครั้งนี้ เพื่อแสดงความชื่นชมในพระปรีชาสามารถและคุณูปการที่ประทานแก่วงการกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย รัฐบาลตั้งใจถวายงานตามโครงการจัดทำมาตรฐานผู้ต้องขังหญิง และโครงการอื่นตามพระราชดำริให้ลุล่วงต่อไป เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยและชาวโลก รวมทั้งเพื่อประกาศให้ชาวโลกประจักษ์ในศักยภาพของประเทศไทยในการดำเนินงานด้านกฎหมาย ในนามเจ้าหญิงนักกฎหมายของชาวไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งานดังกล่าวจะเปิดให้ชมตั้งแต่วันที่ 7-10 พ.ค.52 ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ