นายกฯ แนะให้น้อมนำหลักธรรมทางสายกลางแก้วิกฤตเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง พร้อมมีสติ ยึดเหตุผล และอดทน นำไปสู่ทางที่ถูกต้อง
วันนี้ (6 พ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวสุนทรพจน์หัวข้อ “พระพุทธศาสนากับการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ของโลก” เนื่องในวันวิสาขบูชาโลก ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งมีพระสงฆ์และประชาชนทั่วไปร่วมฟังจำนวนมาก
โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชาโลก หรือวันวิสาขบูชา ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ชาวพุทธทั่วโลกจะได้ระลึกถึงการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตลอดระยะเวลา 45 ปี หลังการตรัสรู้ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จเผยแพร่คำสอนแก่ทุกชนชั้นทุกหมู่เหล่าในอินเดียทั้งในการอบรมและพัฒนาจิตใจผู้คนทำให้พุทธศาสนาได้แพร่หลายไปยังอนุภูมิภาคต่างๆ ในเอเชียและทั่วโลกอย่างกว้างขวางมายาวนานกว่า 2,500 ปี ด้วยตระหนักถึงคุณาประการของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ สมัยที่ 54 เมื่อปี 1999 จึงได้กำหนดอย่างเป็นทางการ ให้วันวิสาขบูชาเป็นวันวิสาขบูชาโลก ตั้งแต่นั้นมา ซึ่งได้ร่วมเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาร่วมกับสำนักงานภูมิภาคในส่วนต่างๆ ของโลก
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในปีนี้ยังเป็นการครบรอบ 10 ปี ของการกำหนดวันวิสาขบูชาโลกตามมติแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งพระภิกษุสงฆ์ ผู้นำทางศาสนาและนักวิชาการด้านพุทธศาสนาจาก 80 ประเทศทั่วโลก จึงขอบคุณในนามของรัฐบาลและประชาชนไทย บุคคลและหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จในการจัดงานนี้ โดยเฉพาะมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
“การมารวมกันในวันนี้จะเป็นโอกาสดีอีกครั้งในการร่วมระลึกชีวิตที่ดีงามแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งดำเนินตามแนวทางสายกลาง ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่มีพื้นฐานอยู่บนความเหมาะสม ความเป็นเหตุเป็นผลและความมีสติ ยิ่งไปกว่านั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังสอนให้เรามีความรักความเข้าใจ และนำความรู้ความสามารถมาใช้อย่างถูกต้อง อดทนและเคารพผู้อื่น ซึ่งหลักการเหล่านี้ สามารกนำมาปรับใช้ได้ทุกเวลาและมีความสำคัญยิ่งขึ้นเรื่อยในโลกปัจจุบัน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงการปฏิบัติแนวสายกลางตามหลักคำสอนแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นการแสดงให้เห็นถึง ความยั่งยืน และสันติภาพที่ถาวร ความสงบภายในและจิตใจที่บริสุทธิ์จะนำไปสู่การแก้ปัญหาและวิกฤตในชีวิต ไม่ว่าโลกจะมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร ความยากลำบากของประชาชนก็ยังสามารถพบเห็นได้ในหลายส่วนของโลก ทั้งความยากจน การก่อการร้าย ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและภัยธรรมชาติ ความขัดแย้งของประชาชนและวิกฤต ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุของความทุกข์ การสูญเสียและความโกธรของหลายๆ คนในหลายๆ ระดับ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า การปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ถึงความรัก ความใจใส่ ความอดทนและการให้อภัยแก่กันและกัน ละเว้นความโกธร ความอิจฉา อัตตาและความรุนแรง จะสามารถเอาชนะปัญหาเหล่านี้ได้
นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า ช่วงเวลานี้ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะปัจจัยรุนแรงต่างๆ จากภายนอก ทั้งความขัดแย้งทางการเมือง ความต้องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ ปัญหาของการใช้ชีวิตในสังคมที่หลากหลาย คำสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ให้ยึดแนวทางสายกลาง จึงสำคัญยิ่ง การที่นานาประเทศ รวมทั้งไทยจะสามารถผ่านพ้นความยากลำบากทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองนี้ไปได้ รัฐบาลต่างๆ จำเป็นต้องหาทางเอาชนะอุปสรรค และทำให้ประชาชนดำเนินตามคำสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ง่ายยิ่งขึ้น ทั้งการแสวงหาความสงบภายในและการใช้ปัญญาในการแก้ปัญหาของแต่ละบุคคล โดยหนทางนั้นอยู่ที่ตัวเรา
นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนท้ายว่า ภารกิจขององค์การสหประชาชาติ ในการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพของโลก โดยกำหนดไว้ในกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งไม่ต่างจากคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าองค์การสหประชาชาติจะก่อตั้งภายหลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน แต่สันติภาพ การพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเคารพสิทธิมนุษย์ ซึ่งเป็นสามเสาหลักแห่งองค์การสหประชาชาติ ยังสามารถหาได้ในพระพุทธศาสนา หากเปรียบเทียบกฎบัตรแห่งสหประชาชาติกับพระไตรปิฏก จะเห็นถึงหลักการที่สอดคล้องหลายประการที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ผาสุกในโลกที่มีสันติภาพ