"สดศรี" แนะรธน.เกี่ยวกับการยุบพรรคมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิ์ก็ยังส่งนอมินีเดินเกมต่อไปได้ สบช่องแนะเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลยกเลิกเพิกถอนสิทธิ์ย้อนหลัง โดยไม่ต้องเสียเวลาร่างกม.นิรโทษกรรมใหม่
วันที่ 2 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ ว่า การแก้รัฐธรรมนูญจะสามารถลดภาพความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้หรือไม่นั้น ตนมองว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่มีส.ส.เข้ามาเป็นสัดส่วนนั้นก็คงเป็นเพราะว่าส.ส.มีส่วนเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญหากได้สัดส่วนที่มาจากนักการเมืองเองก็ย่อมที่จะรู้จุดที่มีปัญหาในการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจะฟังเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ แต่ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนด้วย โดยอาจมีการสอบถามประชามติจากทุกภาคส่วน
“ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นประโยชน์ของคณะบุคคลใดนั้น เราต้องมองว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันเป็นกฎหมายที่ใช้สำหรับคนทั่วไป ส่วนการแก้มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่นักการเมืองส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้ไขนั้น มาตราดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือ ให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดชอบร่วมกัน และให้พรรคการเมืองได้ระแวดระวังกัน ส่วนข้อเสียนั้นทำให้มีผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลที่เมื่อมีการยุบพรรคแล้วอาจมีการเปลี่ยนขั้วทำให้มีผลต่อการทำงานของรัฐบาล” นางสดศรี กล่าว และว่า ส่วนตัวมองว่า การแก้มาตรา 237 ถ้าแก้ไขแล้วเกิดความสามัคคีในบ้านเมืองก็ถือเป็นเรื่องที่สมควรจะ ดังนั้นหากแก้มาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อประเทศก็สมควรแก้ไข
เมื่อถามว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่วิกฤตการเมืองรอบใหม่หรือไม่ นางสดศรี กล่าวว่า มาตรา 237 นั้นแม้จะยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิก็ไม่ได้ตายไปจากการเมือง เพราะยังส่งตัวแทนเข้ามาเล่นการเมืองแทน ถ้าตัวจริงอยู่ข้างหลังก็ให้ออกมาอยู่ข้างหน้าไม่ดีกว่าหรอ เรื่องนี้รัฐบาลก็น่าจะวินิจฉัยได้เองว่าแก้รัฐธรรมนูญแล้วจะสงบหรือไม่ ซึ่งการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีเป้าหมายให้คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกลับมาเล่นการเมืองได้ โดยมาตรา 237 ถ้าแก้จริง ก็อาจมีเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลว่าให้สามารถย้อนหลังไปถึงกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้ไม่ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซึ่งก็ถือเป็นการนิรโทษกรรมไปในตัวโดยไม่ต้องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นมา เแต่ถ้าแก้แล้วไม่มีอะไรดีขึ้น ก็ไม่สมควรแก้รัฐธรรมนูญ