xs
xsm
sm
md
lg

“สมเจตน์” ค้านนิรโทษกรรม “นช.แม้ว” ซัดไม่สำนึก ยังป่วนชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคมช.
“พล.อ.สมเจตน์” หนุนแนวคิด “มาร์ค” ยอมให้อภัยลดปัญหาขัดแย้ง แต่แนะควรให้อภัยคนที่ทำผิดแล้วมีสำนึก ค้านนิรโทษกรรม “นช.แม้ว” ชี้ เลยเส้นการให้อภัย ซัดไม่สำนึก ทั้งยังสร้างความเสียหายแก่ประเทศ พร้อมค้านแก้รัฐธรรมนูญ ชี้ รัฐธรรมนูญไม่ผิด ผิดที่คนใช้ ยันเหตุยุบพรรคเกิดจากพฤติกรรมชั่วที่ทำผิดกฎหมาย ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจน

วันนี้ (22 เม.ย.) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงแนวความคิดของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่อาจจะนิรโทษกรรมให้กับนักการเมือง เพื่อลดความขัดแย้งทางการเมือง ว่า การให้อภัยเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องให้อภัยคนที่กระทำความผิดแล้วมีสำนึกว่าทำผิด แต่การให้อภัยกับคนที่ไม่สำนึก แล้วยังสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ดังนั้น บุคคลเช่นนี้ควรให้อภัยหรือไม่

“การนิรโทษกรรมต้องดูว่านิรโทษกรรมใคร แต่หากนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มันเลยขีดนั้นมาแล้ว นอกจากไม่สำนึกผิด แล้วยังสร้างความเสียหายให้ประเทศ ดังนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การให้อภัยในส่วนของการยุบพรรคการเมืองทั้ง 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ 109 กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ต้องดูว่าการเมืองไทยมีปัญหามาก เพราะการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ ใช้เงินซื้อเสียง ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม เมื่อเข้ามาตั้งรัฐบาลแล้วก็หาประโยชน์ให้กับตัวเอง มูลเหตุของ 111 และ 109 กรรมการบริหารพรรคการเมืองส่วนหนึ่งมาจากการใช้อำนาจไม่เป็นธรรม

“กรณีพรรคไทยรักไทยจ้างพรรคเล็กมาเลือกตั้งในเขตที่ไม่มีพรรคการเมืองอื่นลงแข่งขัน เพื่อเลี่ยง และตัดประเด็นคะแนนเสียงประชาชนต้องเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ ในเขตที่มีพรรคการเมืองเดียวส่งผู้สมัครแข่งขัน ต้นเหตุการณ์ยุบพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และพรรคอื่น ที่เกี่ยวกับการซื้อเสียงเป็นภัยร้ายแรงของระบอบประชาธิปไตย หากกรณีนี้เราไม่ลงโทษให้เขาสำนึก เมื่อได้คนผิดมาลงโทษ แล้วมาพูดนิรโทษกรรมก็ต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

เมื่อถามถึงแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งทางการเมือง พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นการร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์แต่ละช่วง ซึ่งการแก้ไขก็ทำได้ แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาจากประชามติของประชาชน ดังนั้น ต้องพิจารณาใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.แก้อะไรในรัฐธรรมนูญ 2.ประชาชนต้องเห็นด้วย 3.ต้องแก้เพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ไม่ใช่เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ขณะนี้เขาต้องการให้แก้มาตรา 237 และ 309 ซึ่งมาตรา 237 เกิดจากปัญหาการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ ถือเป็นความร้ายแรงในประชาธิปไตย หากต้องการให้การเมืองไทยเจริญเหมือนชาติอื่น ต้องทำการเมือง การเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ รัฐธรรมนูญไม่ผิด แต่นักการเมืองเป็นผู้ที่มากระทำความผิด ซึ่งมาตรา 309 เป็นเรื่องเดียวกับการนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และพวกพ้อง ตนขอคัดค้านเต็มที่ไม่สมควรแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้

“มาตรา 237 ที่มาโดยพรรคไทยรักไทย ซึ่ง พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ นายพงษ์ศักดิ์ รัชตพงษ์ไพศาล รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไปจ้างพรรคพัฒนาชาติไทย เพื่อลงเลือกตั้งเลี่ยงประเด็นต้องมีคะแนนเสียงประชาชนเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย เมื่อจับได้พรรคไทยรักไทยก็ตะแบง ว่า เป็นเรื่องส่วนตัวของ พล.อ.ธรรมรักษ์ ไม่เกี่ยวกับพรรคเป็นการเลี่ยงบาหลี มาตรา 237 จึงเป็นการป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ หากเป็นกรรมการบริหารพรรคทำผิดกฎหมาย ต้องถือว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมืองด้วย ผมไม่เห็นด้วยการแก้มาตรา 237” อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช.กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ คงพยายามหาทางแก้ความขัดแย้ง แต่ต้องมองให้ลึกซึ้งว่า ต้นเหตุของ 2 มาตรานี้มาจากอะไร และมูลเหตุที่กลุ่มพันธมิตรออกมาเคลื่อนไหวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ก็เพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่มีเป้าหมายเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม ดังนั้น การแก้มาตรา 237 และมาตรา 309 อาจสร้างความวุ่นวายเกิดขึ้นอีกครั้งได้
กำลังโหลดความคิดเห็น