คณะกรรมการเยียวยาฯ เหตุการณ์ 7 ตุลาฯ พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บเพิ่มเติม 145 ราย รวมผู้เสียชีวิตจากระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 4 ราย วงเงินร่วม 6 ล้านบาท พร้อมส่งเสียบุตรหลานผู้พิการจนจบปริญญาตรี 12 ทุน รวมวงเงินอนุมัติแล้วเกือบ 22 ล้านบาท 557 ราย พร้อมอนุมัติอีก 2 ล้าน ฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหาย
วันที่ 13 มี.ค. นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหาย จากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่อง เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการฯ ว่าเป็นการประชุมของคณะกรรมการฯ ตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลชุดที่แล้ว ในการอนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการเยียวยาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งคณะกรรมการฯ ชุดนี้เดิมทีได้รับงบประมาณตามกรอบวงเงินงบประมาณจำนวน 56 ล้านบาท โดยให้การช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น 389 ราย ใช้งบประมาณ 15.3 ล้านบาท
ในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาคำขอช่วยเหลืออีก 145 ราย ในจำนวนนี้รวมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งตำรวจ คนขับรถพยาบาลที่ได้รับบาดเจ็บด้วย และยังรวมไปถึงผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย โดย 3 รายเสียชีวิตจากการโดนระเบิดเอ็ม 79 ที่หน้ารัฐสภา และอีก 1 ราย เสียชีวิตจากการชุมนุมที่สนามบินดอนเมือง โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณามีมติให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงิน 5,940,000 บาท โดยจะรวมไปถึงการให้การดูแลผู้พิการและทุพลภาพจากเหตุการณ์ดังกล่าว จำนวน 11 ราย ให้เงินช่วยเหลือเป็นรายเดือน และให้ความช่วยเหลือบุตรหลานของผู้ที่ได้ผลกระทบ โดยให้ทุนการศึกษาจนเรียนจบระดับปริญญาตรี จำนวน 12 ทุน รวมงบประมาณทั้งจากที่อนุมัติไปแล้วและงบประมาณช่วยเหลือต่อเนื่องเพิ่มเติมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 557 รายเป็นเงิน 21,790,000 บาท โดยคณะกรรมการฯ จะจัดทำรายงานผลสรุปผลการดำเนินงาน รายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
นายสาทิตย์กล่าวว่า การชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.และเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องยังมีผลกระทบในบางส่วน จึงใช้มติ ครม.เดิมและมติคณะกรรมการชุดนี้ ในการดูแลเพิ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ 1.ให้กรมสุขภาพจิตใช้งบประมาณที่เหลืออีก 2 ล้านบาทจัดทำแผนดูแลเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จนถึงสิ้นปีงบประมาณ 2552 ในเดือน ต.ค.นี้
2.ในกรณีของผู้ที่ได้รับความบาดเจ็บที่ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล รัฐบาลจะยังคงให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยให้โรงพยาบาลจัดทำรายจ่ายการรักษาพยาบาล ไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อดำเนินการเบิกเงินจากสำนักงบประมาณ เพื่อไม่ให้ผู้บาดเจ็บต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ส่วนการช่วยเหลือผู้พิการทุพลภาพจะได้รับการดูแลจาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต ส่วนทุนการศึกษาของบุตรหลานของผู้พิการและทุพลภาพเหล่านั้น กระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้รับผิดชอบ
“รัฐบาลเห็นว่าการดูแลช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น เป็นภารกิจทางด้านมนุษยธรรมสมควรให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่ารัฐบาลชุดใดก็ตามก็ต้องให้ความช่วยเหลือ” นายสาทิตย์ กล่าว