“มาร์ค” ไม่หวั่น UNHCR เข้าสอบทหารไทยทารุณกลุ่มมุสลิมโรฮิงยา เชื่อทำงานร่วมกันได้ ลั่นขอให้เข้าใจกติกาไทย อย่ามองแค่ปลายเหตุ ชี้ไม่ใช่ต้นตอปัญหาลอบหนีเข้าเมือง ยอมรับหน่วยงานภายในไม่ประสานข้อมูล ปล่อยพล่ามจนวุ่น เรียกประชุมสภาความมั่นคงถกรับมือ 22 ม.ค.นี้
วันนี้ (21 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาการหลบหนี้เข้าเมืองของกลุ่มมุสลิมโรฮิงยา ซึ่งทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จะเข้ามาตรวจสอบ ว่า ในวันที่ 22 ม.ค.จะมีการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อหารือถึงการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ในฐานะ ผบ.กอ.รมน.ได้ให้นโยบายในเชิงปฏิบัติกับผู้ปฏิบัติงานที่เคยใช้และเขียนเอาไว้ที่ถูกต้อง คือ เราต้องพยายามหาทางที่ไม่ให้เป็นปัญหาความมั่นคงต่อเรา และยึดหลักในเรื่องสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้สำหรับปัญหาที่มีการกล่าวหากันนั้น ขณะนี้ผู้ปฏิบัติรับที่จะไปตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบายที่จะต้องปรับปรุงอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะมีการคุยกันในที่ประชุม สมช.ทั้งนี้ ในเรื่องของการชี้แจงตนได้ขอว่า ควรจะมาประสานงานกันใกล้ชิดมากขึ้น ที่ผ่านมาบางทีพอเกิดเรื่อง เมื่อมีการสัมภาษณ์ต่างคนก็ต่างให้คำอธิบายโดยไม่ได้มาพูดคุยกันก่อน ซึ่งบางครั้งการสื่อสารออกไปทำให้เกิดความสับสน ฉะนั้น กรณีที่ผ่านมาทางกระทรวงการต่างประเทศและทำเนียบรัฐบาลจะเป็นผู้ดูแล โดยทางฝ่ายปฏิบัติจะต้องส่งข้อมูลมา เช่นกรณีที่ทางกองทัพเรือบอกว่ามีหลายรูปที่ไม่ได้นำไปเผยแพร่ เพื่อให้เห็นว่าปฏิบัติกับคนเหล่านี้อย่างไร จึงได้บอกไปว่า กรณีเช่นนี้ควรจะรีบส่งข้อมูลไปให้ฝ่ายผู้ชี้แจง
เมื่อถามว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่นโยบายว่าเอาจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ตอนนี้การปฏิบัติกดดันเจ้าหน้าที่มากขึ้น เพราะขณะนี้ผู้หลบหนีเข้าเมืองเข้ามาเยอะ เราจะปล่อยสภาพอย่างนี้ไปไม่ได้ จะมีปัญหามาก เพราะพื้นที่ขณะนี้แทบจะคลอบคลุมเหนือจดใต้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ยืนยันจะแก้ปัญหานี้ต่อไป โดยหาก UNHCR จะเข้ามาเรายินดีที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ และจะแสวงความร่วมมือกับประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย แต่เขาต้องมาช่วยดูให้เราด้วย เพราะปัญหาพื้นฐานจริงๆ เป็นปัญหาที่ไม่ได้เริ่มต้นที่ประเทศเรา แต่ปัญหาที่เกิดในแง่ความเหลื่อมล้ำ เรื่องการแสวงโอกาสตรงนี้เขาต้องเข้าใจด้วย จะมาดูที่ปลายเหตุอย่างเดียวไม่ได้
ส่วนกรณีที่ UNHCR จะคุยกับกลุ่มโรฮิงยาด้วยนั้น นายอภิสิทธิ์ เห็นว่า ก็ควรจะมาคุยกับทางเราว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร ซึ่งเขาสามารถเข้ามาทำงานกับเราได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือ ความเข้าใจในกติกาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ตนยืนยันว่า เราจะดูเรื่องสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม โดยที่เราเป็นผู้กำหนดนโยบาย หากหน่วยงานเหล่านี้มีความข้องใจว่าเราไปละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เขาก็มีสิทธิที่จะมาตรวจสอบและมาช่วยดูได้ เพียงแต่ต้องมาทำความเข้าใจในการทำงานร่วมกัน
“ปัญหาในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนโยบายแรงงานต่างด้าว ในแง่การขึ้นทะเบียน โควตาสัดส่วน ใจผมตั้งแต่ก่อนมาเป็นรัฐบาลอยากให้เป็นเรื่องเสรีถึงขั้นที่ว่า จดกันไม่จำกัดและมีปัญหามากในการบริหาร จึงอยากจะมาจำกัดเรื่องพื้นที่ อุตสาหกรรม ซึ่งจะคุยกับ รมต.แรงงาน ยิ่งตอนนี้ปัญหาการว่างงานรุนแรงขึ้น จะยิ่งเกิดความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นระหว่างคนไทยซึ่งมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับโอกาส ผมจะพูดกับทางต่างประเทศด้วยว่าต้องเข้าใจ ซึ่งจริงๆแล้วทุกประเทศก็มีปัญหานี้ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ฉะนั้น เขาน่าจะเข้าใจ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว