"สันติสุข"แจงในฐานะผู้ดำเนินรายการ"รู้ทันประเทศไทย"รับเงินเดือนจาก"ว็อชด็อก" เพราะฉะนั้นพฤติกรรมไปเที่ยว"ซานติก้าผับ"จึงไม่แปดเปื้อนเงินบริจาคของประชาชนแต่อย่างใด ด้านนายกสมาคมวิศวกรรมฯ เผยตรวจพบความผิดปกติ"นรกซานติก้า"ถึง 23 จุด ไม่มีแม้กระทั่งผู้ออกแบบอาคาร ขณะกรรมการสิทธิฯ สภาทนายแนะลูกค้าใช้สิทธิฟ้องตาม กม.คุ้มครองผู้บริโภค โอกาสชนะคดีมีสูง
รายการ"รู้ทันประเทศไทย" ทางเอเอสทีวี ช่วงเวลา 18.30-20.00 น. วันที่ 7 มกราคม 2552 ในช่วงต้นรายการ นายสันติสุข มะโรงศรี ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้ซานติก้าผับมาได้อย่างหวุดหวิด ได้ชี้แจงกรณีที่มีความเห็นเข้ามาทางเว็บไซต์ว่า การเป็นพนักงาน ASTV ซึ่งได้รับเงินเดือนจากการบริจาคของประชาชนนั้น ไม่ควรจะไปเที่ยวสถานที่อย่างซานติก้าผับ โดยนายสันติสุขได้ชี้แจงว่า รายการ"รู้ทันประเทศไทย"นั้นเป็นของบริษัทว็อชด็อกที่มาร่วมผลิตกับ ASTV ซึ่งตนในฐานะลูกจ้างบริษัทว็อชด็อกก็รับเงินเดือนจากบริษัทว็อชด็อก ไม่ได้รับจากเงินบริจาค เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่ตนไปเที่ยวจึงไม่ได้ไปแปดเปื้อนเงินบริจาคแต่อย่างใด ส่วนเงินบริจาคจากประชาชนนั้นก็ได้รับการบริหารจัดการโดย ASTV ตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วนแล้ว และขอแสดงความคิดเห็นในฐานะมุมมองส่วนตัวว่า เท่าที่ได้รู้จักกับทีมงาน ASTV ทุกคนได้ทุ่มเททำงานเต็มที่อย่างหามรุ่งหามค่ำมาตลอด ดังนั้น ตนจะไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ หากว่าในช่วงเทศกาลพวกเขาเหล่านั้นจะไปพักผ่อนสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็แล้วแต่
สำหรับในช่วงสนทนา ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และนายสันติสุข ได้สนทนากับ นายประสงค์ ธาราไชย นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย(ในพระบรมราชูปถัมภ์) หลังจากเข้าไปตรวจสอบในซานติกาผับ ซึ่งพบความผิดปกติประมาณ 23 ประเด็น เช่น ไม่พบผู้ออกแบบ ทั้งแบบก่อสร้าง และแบบดัดแปลง ไม่มีท่อร้อยสายไฟในอาคาร ใช้โฟมชนิดที่ติดไฟง่ายซึ่งมีการห้ามใช้ โครงสร้างอาคารพังเร็ว เพราะไม่พ่นวัสดุกันไฟ ซึ่งตามกฎหมายได้ระบุไว้ต้องมีวัสดุกันไฟให้ได้อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ไม่พบระบบเตือนไฟไหม้ ไม่มีสปริงเกอร์ฉีดน้ำ ไม่มีไฟฉุกเฉิน(ยกเว้นในห้องครัวจุดเดียว) ทางหนีไฟไม่ถูกตามมาตรฐาน เพราะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถออกได้ บันไดลงชั้นใต้ดินมีบันไดเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังได้สนทนากับนายชัยรัตน์ แสงอรุณ กรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ ในประเด็นทางกฎหมายกรณีเหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และเจ้าของผับ ส่วนลูกค้าก็สามารถฟ้องเรียกค่าชดเชยจากเจ้าของผับตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นการสิทธิในฐานะผู้ใช้บริการ ซึ่งเชื่อว่ากรณีนี้ผู้บริโภคมีโอกาสชนะมากกว่าแน่นอน โดยสภาทนายพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในการฟ้อง