ที่ประชุม กกต.เริ่มพิจารณาสถานภาพสัดส่วน ส.ส.ตามขั้นตอน คาดยื่นร้องศาล รธน.ไม่ทันภายในวันที่ 16 ธ.ค. ที่จะมีการพิจารณาสถานภาพของรัฐบาลรักษาการ เพราะต้องรอให้อนุกรรมการสรุปความเห็นเสนอขึ้นมา ชี้ช่องไม่ทันเหมือนกรณี ส.ส.-ส.ว.ยื่นตรงได้เลย ขณะที่"สมชัย"อ้างกม.รบ.มีสิทธิ์ยุบสภาได้ แม้มีพระบรมราชโองการฯเปิดประชุมสภา
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.วันนี้ (12 ธ.ค.) จะพิจารณาสถานภาพ ส.ส.สัดส่วน ที่มีผู้ร้องให้วินิจฉัย แต่ตามขั้นตอนคงไม่สามารถเร่งพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ทันในวันอังคารที่ 16 ธันวาคมนี้ ที่จะมีการพิจารณาสถานภาพของรัฐบาลรักษาการ เพราะตามขั้นตอนของ กกต. เมื่อมีการร้องเข้ามาจะต้องให้อนุกรรมการวินิจฉัยศึกษาข้อกฎหมาย และทำความเห็นเสนอ กกต.ก่อน และการที่ กกต.จะส่งเรื่องอะไรไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ต้องมีความเห็นประกอบไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ เห็นว่า ความคิดเห็นที่ต่างกันในเรื่องสถานภาพ ส.ส.สัดส่วน ควรหมดไปตามคำสั่งศาล
เช่นเดียวกับนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ที่ยืนยันว่าการเสนอให้ กกต.พิจารณาเรื่องสถานภาพ ส.ส.สัดส่วน จะต้องยึดตามขั้นตอนและระเบียบการพิจารณาของ กกต.ไม่เหมือนกับกรณี ส.ส.หรือ ส.ว.ที่เข้าชื่อกันส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้เลย
และเมื่อเวลา 12.30 น.นาย อภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกกต. กล่าวภายหลังการประชุมว่า วันนี้( 12 ธ.ค.) ยังไม่มีเรื่องการพิจารณาสถานะส.ส.สัดส่วน ส่วนกรณีที่มีคนร้องให้ตรวจสอบดำเนินการกับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ไปมีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาล นั้น ตนยังไม่เห็นเรื่อง หากมีคนร้องเข้ามาก็ต้องให้เจ้าหน้าที่ ก็จะทำเรื่องเสนอเข้ามายังกกต.ให้พิจารณา
“สมชัย” ระบุ นายทะเบียนพรรคการเมือง ควรดูแลกรณีกก.บห.ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ ไปจัดตั้งรบ.
ด้านนายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. กล่าวยอมรับว่า การที่มีอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดตั้งรัฐบาล และมีบทบาททางการเมืองนั้น จะทำให้คำพิพากษาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ทั้งนี้ก็เป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะดูแล โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ไปเกี่ยวข้องกับอดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ อย่างไรก็ตามหากมีการร้องเข้ามา กกต.จึงจะใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบได้
นายสมชัย ยังกล่าวถึงกระแสการยุบสภา ว่า ตามกฎหมายแม้จะมีพระบรมราชโองการฯ เปิดประชุมสภาในวันที่ 15 ธ.ค. แต่รัฐบาลก็ยังมีสิทธิ์ที่จะยุบสภาได้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการเปิดประชุมสภาฯ หรือไม่อย่างนั้นรัฐบาลก็รอให้ถึงวันเปิดประชุมสภา แล้วอ้างเหตุความวุ่นวายที่เกิดขึ้นยุบสภาฯได้