ที่ประชุม กกต.ลงมตินัดเลือกตั้งซ่อม ส.ส.11 ม.ค.52 งดวิพากษ์สถานะ ส.ส.สัดส่วนย้ายสังกัด โบ้ยเป็นหน้าที่ของสภา รวมถึงตำแหน่ง ปธ.สภาที่จะทำหน้าที่โหวตเลือกนายกด้วย
วันนี้ (4 ธ.ค.) นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลการประชุม กกต.ว่า ในวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค.นี้ ที่ประชุม กกต.จะพิจารณาร่างพระกฤษฎีกาเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ใน 22 จังหวัด 26 เขตเลือกตั้ง 29 ส.ส.ต่อ ครม.โดยกำหนดการเลือกตั้งใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 11 ม.ค.2552 และกำหนดเปิดรับสมัครในวันที่ 22-26 ธ.ค.และกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดวันที่ 3-4 ม.ค.2552
นายสุทธิพล กล่าวอีกว่า ที่ กกต.ไม่สามารถพิจารณาเสนอ ครม.ในวันนี้ได้ เนื่องจากยังติดปัญหาข้อกฎหมายกรณีสถานะของ นายพิเชษฐ์ ตันเจริญ ที่ต้องดูว่า การพ้นจากกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ถือว่าสิ้นสภาพสมบูรณ์เมื่อใด ระหว่างวันที่ 26 ต.ค.2550 ที่ยื่นต่อนายทะเบียนสมาชิกพรรค ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 20 วรรค 2 หรือจะนับการสมบูรณ์ เมื่อวันที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตอบรับ ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 41 วรรค 2 คือ วันที่ 11 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันหลังการกระทำผิดของนายยงยุทธ 28 ต.ค.2550 ซึ่งในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ จะได้ความชัดเจนว่าจะต้องสั่งเลือกตั้งใหม่แทน นายพิเชษฐ์ หรือไม่
อย่างไรก็ตาม กกต.ได้ประสานไปยังเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาด้วยว่าในการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้ลงรายละเอียดถึงการเพิกถอนกรรมการบริหารเป็นบุคคลใดด้วยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงนามของคณะกรรมการศาลไม่เกินวันที่ 8 ธ.ค.ก็น่าจะได้
“ก่อนที่จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง กกต.จะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของจำนวน ส.ส.ที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งก่อน ซึ่งได้นัดให้มีการประชุมนัดพิเศษในวันจันทร์ที่ 8 ธ.ค.นี้ เพื่อเสนอต่อ ครม.” นายสุทธิพล กล่าวและว่า สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะต้องสังกัดพรรคการเมืองติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน หรือ 90 วัน ถึงวันเลือกตั้ง ที่ประชุม กกต.เห็นว่า ควรให้เป็นอำนาจของ ผอ.กต.เขต ที่จัดการเลือกตั้งเป็นผู้พิจารณาว่าจะประกาศให้เป็นผู้สมัครหรือไม่ หากผู้ใดไม่ถูกประกาศให้เป็นผู้สมัครเห็นว่าไปร้องคัดค้านต่อศาลฎีกาได้
“ซึ่งกรณีการเลือกตั้งใหม่ในครั้งนี้มีการถกเถียงกันว่า ยังเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามบทเฉพาะกาลหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมกกต.ก็มีการพูดกันถึงเรื่องนี้” นายสุทธิกล กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ส.สัดส่วนที่ย้ายพรรคไปยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องสถานะจะมีปัญหาในเรื่องโหวตนายกฯหรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนฯที่จะไปพิจารณาแก้ไขปัญหาว่าสถานะสิ้นสุดหรือไม่ หรืออาจต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รวมถึงตำแหน่งของประธานสภาผู้แทนฯของ นายชัย ชิดชอบว่า ยังคงสถานะหรือไม่ เมื่อย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของสภา