อดีตทูต จี้ อัยการสูงสุด รีบแจ้งรัฐบาลผู้ดี ขอนำตัว “ทักษิณ” มาเข้าคุก แนะใช้ช่องสนธิสัญญา ร.ศ.103 โดยให้ศาลอังกฤษพิจารณา ยอมรับอาจได้ตัวยาก หวั่นซ้ำรอย “ปิโนเชต์” ปธน.ชิลี จอมเผด็จการ โดนยื้อจนตัวตาย ชี้ช่องนำปัญหาสิทธิมนุษยชนยุค “แม้ว” เรืองอำนาจ ยื่นประกอบ อาจได้ตัวง่ายขึ้น
วันนี้ (24ต.ค.) นายกษิต ภิรมย์ รองนายกรัฐมนตรีเงา พรรคประชาธิปัตย์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย แถลงว่า ภายหลังจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 2 ปี ในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก การนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมารับโทษในประเทศไทยนั้น ก็มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ สหราชอาณาจักร ร.ศ.103 ซึ่งสำนักอัยการสูงสุด (อสส.) และกระทรวงการต่างประเทศคงได้มีการเตรียมการศึกษาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับอังกฤษ รวมถึงข้อกฎหมายของไทย และของอังกฤษ ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า อสส.ต้องรีบดำเนินการแจ้งไปยังรัฐบาลอังกฤษ เพื่อให้พิจารณาส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาดำเนินคดีในไทย เพราะเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้มีการปรึกษาหารือถึงเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว
นายกษิต กล่าวอีกว่า ส่วนวิธีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศอังกฤษนั้น เริ่มจากรัฐบาลไทยต้องมีหนังสือถึงรัฐบาลอังกฤษอย่างเป็นทางการ ซึ่งทำได้ด้วย 2 ช่องทาง คือ 1.อสส.แจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ แล้วกระทรวงการต่างประเทศอาจจะเชิญเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย มาพบเพื่อยื่นหนังสือไปถึงรัฐบาลอังกฤษ หรือ 2.ส่งเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ไปที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอังกฤษ เพื่อยื่นต่อกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ซึ่งในการยื่นหนังสือต่อทางการอังกฤษนี้ ฝ่ายไทยต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับคดีดังกล่าวให้มากที่สุดไม่ว่าจะเป็นฐานความผิด สำนวนฟ้อง และเอกสารประกาศจับที่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ
นายกษิต กล่าวว่า เมื่อเรื่องดังกล่าวถูกส่งไปทางการอังกฤษแล้ว ศาลของอังกฤษจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าคดีเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมายของอังกฤษหรือไม่ และถ้าวินิจฉัยว่าเป็นความผิดทางอาญาจริงตามระบบกฎหมายของไทยและของอังกฤษหรือไม่ จากนั้นจะพิจารณาต่อไปว่าเป็นความผิดทางอาญาสามัญ หรือเป็นความผิดทางอาญาการเมือง ซึ่งถ้าเป็นความผิดทางอาญาการเมือง หรือมีเหตุจูงใจทางการเมือง จะถูกชี้ขาดว่าไม่สามารถส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ และต้องยุติการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศไทย เพราะเป็นคดีทางการเมือง แต่ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นความผิดทางอาญาสามัญ ก็สามารถพิจารณาส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาได้ ซึ่งศาลอังกฤษจะต้องส่งเรื่องเพื่อหารือกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ว่า จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอหรือไม่ แล้วจึงจะส่งต่อไปวุฒิสภา และรัฐบาลอังกฤษ เป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย อย่างไรก็ตาม อสส.ต้องรีบทำหนังสือผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังรัฐบาลอังกฤษให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
นายกษิต กล่าวยอมรับว่า การนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดูได้จากกรณีที่ทางการเปรูขอตัว นายอัลเบอร์โต้ ฟูจิโมริ อดีตประธานาธิบดีเปรู ที่หนีไปยังประเทศญี่ปุ่น และ ชิลี ซึ่งศาลของชิลีได้ตัดสินให้ส่งตัวไปขึ้นศาลที่เปรู โดยเรื่องนี้ใช้เวลานานหลายปี หรือกรณีที่ นายพล ออกุสโต ปิโนเชต์ อดีตประธานาธิบดีชิลี หนีไปรักษาตัวในประเทศอังกฤษ ซึ่งประเทศสเปนได้ฟ้องไปยังรัฐบาลอังกฤษ และเรื่องผ่านเข้าสู่ศาลยุติธรรมและวุฒิสภาของอังกฤษ จนอนุมัติให้ส่งตัว นายพลปิโนเชต์ กลับไปดำเนินคดีในชิลี แต่นายพลปิโนเชต์ กลับเสียชีวิตไปก่อน โดยกรณีนี้ใช้เวลานานหลายปี เพราะอังกฤษต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ทั้งนี้ กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นต่างจาก นายปิ่น จักกะพาก อดีตผู้บริหารบริษัทเงินทุน เอกธนกิจ และ นายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษาธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) ซึ่งทั้งสองเป็นนักธุรกิจ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตนายกฯ และยังพัวพันกับคดีอาญา จึงเชื่อว่า รัฐบาลอังกฤษคงพิจารณาเรื่องนี้ในทุกด้านอย่างถี่ถ้วน ทั้งนี้ แม้ในคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการใช้อำนาจมิชอบหรือผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะที่เป็นนักการเมือง แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนในการฆ่าตัดตอน และคดีกรือเซะ-ตากใบ ที่รัฐบาลไทยสามารถนำไปอ้างอิงในการขอตัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาได้ด้วย