xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิมนุษยชน ค้านรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จี้ยกเลิกก่อนทำสถานการณ์เลวร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ออกแถลงการณ์ ค้านรัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมจี้นายกฯยกเลิก ด่วน ระบุ ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้าย รุนแรง บานปลาย ยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ยังละเลย และมองข้ามปัญหาหลักของชาติ

วันนี้ (2 ก.ย.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอคัดค้านการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในขณะนี้ ด้วยความห่วงใยและวิตกกังวลในแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาล จึงได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไปแล้วในวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง “รัฐบาลต้องยุติการใช้ความรุนแรง และต้องตรวจสอบ ทบทวน ความชอบธรรม ความรับผิดชอบของรัฐบาล” ซึ่งคณะกรรมการสิทธิฯ ได้แสดงจุดยืนที่เด่นชัดว่า ไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากฝ่ายใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ใช่หนทางแก้ไขปัญหา มีแต่ทำให้การชุมนุมและการต่อสู้ของประชาชนขยายตัวยิ่งขึ้น

การเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ในช่วงเวลาตั้งแต่ตีหนึ่งวันที่ 2 ก.ย.2551 ทำให้เกิดความเศร้าเสียใจ ต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจได้ควบคุมสถานการณ์ความรุนแรงได้แล้ว แต่รัฐบาลกลับใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการสิทธิฯ ตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา หากแต่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว มีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้าย และเกิดความรุนแรงบานปลายยิ่งขึ้น

คณะกรรมการสิทธิฯ จึงมีข้อเสนอแนะท้วงติง การประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2548 และคัดค้านการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2550 และในครั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ขอคัดค้านอีกเช่นเดียวกัน เพราะส่งผลกระทบที่สำคัญต่อระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร เพราะนอกจากจะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ในประการสำคัญยังละเลย และมองข้ามปัญหาหลักของประเทศ กล่าวคือ บทบาทและความรับผิดชอบของรัฐสภา และนักการเมือง ซึ่งต้องทำหน้าที่ถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารให้ใช้อำนาจรัฐตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และถูกต้องทำนองคลองธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น